หลักสูตรปฐมวัย มรภ.ยะลา ดึงครูเด็กเล็กร่วมพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้เชิงสันติภาพที่เหมาะสมกับเด็ก
1 min readผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ อาจารย์หลักสูตรปฐมวัย คณะครุศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยว่า คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกับ หน่วยปฏิบัติการวิจัยกัลยาณมิตร 16 หน่วย ประกอบด้วย โรงเรียน 13 แห่งและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 แห่ง เข้าร่วมโครงการวิจัยย่อยที่ 3 เรื่อง การวิจัยพัฒนาต้นแบบนโยบายกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถะเชิงสันติภาพที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้บันทึกความร่วมมือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ได้กำหนดจัดอบรมปฏิบัติการครั้งที่ 1 เรื่อง ฟื้นพลังสันติสุข ปลูกสันติภาพเด็กปฐมวัย และ การวิพากษ์หลักสูตรสันติศึกษา ระดับปฐมวัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจพร้อมปฏิบัติการวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสันติภาพให้กับเด็กปฐมวัย โดยมีท่านเจ้าคุณ ดร.พระโสภณธรรมมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดยะลา เจ้าอาวาสวัดนิโรธสังฆาราม เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย และมี รศ.ดร.ศิษฏ์ธวัช มั่นเศรษฐวิทย์ เป็นนักวิจัยร่วม
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2564 ณ สวนไม้เมืองหนาวเบตง(สวนหมื่นบุปผา) อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมประกอบด้วยกิจกรรมสานเสวนา สู่พลังเครือข่ายสันติภาพเพื่อเด็กปฐมวัย กิจกรรมบำบัดร่างกายด้วยวิขามณีเวช เสริมสันติสุข ปลุกสันติภาพในตนเอง การวิพากษ์หลักสูตรสันติศึกษา ระดับปฐมวัยและการวางแผนกระบวนการจัดประสบการณ์เรียนรู้สู่ห้องเรียน และการเสวนาเรื่อง ฟื้นสันติสุข ปลูกสันติภาพเด็กปฐมวัย ต้องเริ่มต้นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ ย้ำว่า ตัวบ่งชี้ที่คณะวิจัยคาดหวังเด็กปฐมวัยตะสามารถใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ เช่น เมื่อมีความขัดแย้ง สามารถควบคุมความโกรธของตนเองได้ เมื่อมีความขัดแย้ง สามารถบอกถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งได้ตรงตามความเป็นจริง เมื่อมีความขัดแย้ง เด็กสามารถฟังเหตุผลของผู้อื่นได้ ควบคุมความโกรธของตนเองได้ ให้อภัยผู้อื่นได้และร่วมสร้างและปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ภาพ/ข่าว อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา