รองเลขาธิการ สพฉ. ชี้แจง ไม่เร่งรัดสรรหารองเลขาธิการ ยืนยันขั้นตอนโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
1 min readจากกรณีที่มีการออกมาร้องเรียนโดยพนักงานส่วนหนึ่งของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคมที่ผ่านมา ในการตั้งข้อสังเกตุถึงความผิดปกติในกระบวนการแต่งตั้งรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติที่ในขณะนี้นั้น
วันนี้ ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ได้กล่าวชี้แจงว่า กรณีมีข้อสังเกตถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งรองเลขาธิการในช่วงเวลานี้ เนื่องมาจากที่สถาบันการแพทย์ของชาติเป็นองค์กรที่รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินประเทศจำนวนมาก ต้องมีการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ในปัจจุบัน ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมี ๔ ตำแหน่ง เหลือผมเพียงคนเดียวในตำแหน่งรองเลขาธิการ ซึ่งอาจไม่สามารถครอบคลุมงานทุกส่วนได้ทันท่วงที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปิดรับผู้บริหารระดับสูงเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในเวลานี้ ในคำสั่งของท่านปลัดกระทรวง สธ. ซึ่งรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จในวันที่เท่าไหร่ แต่ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จึงถือว่าไม่ได้มีการเร่งรัดแต่อย่างใด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๖๔ กรรมการหลายท่านได้ประชุมหารือกัน ได้มองถึงงานขององค์กร ว่าด้านใดบ้างที่ยังต้องมีการพัฒนา ก็จะมีเรื่องที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ได้เคยมมติในที่ประชุม ให้ สพฉ. ไปเน้นการพัฒนา ๑๐ ประการ หนึ่งเรื่องที่สำคัญที่ กพฉ. เน้น ก็คือการ Rebranding สพฉ. อยากให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะองค์กรสำคัญในการจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงการประสานงานกับเครือข่ายก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตำแหน่งที่จะเข้ามาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ ควรสรรหาให้เป็นผู้บริหารระดับสูง โดยบุคคลที่กรรมการ ได้มองไว้ ก็คือ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. ที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์พร้อมกับท่านเลขาธิการ ซึ่งงานที่คณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติ ก็เป็นบทบาท ภารกิจ และตำแหน่ง ที่ท่านได้ทำไว้อยู่แล้วและต้องการความต่อเนื่อง และจากผลการคัดเลือกเลขาธิการ ก็เป็นเลขาธิการท่านเดิมที่จะเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งเป็นทีมบริหารชุดเดิมที่เคยทำงานร่วมกัน สำหรับความเหมาะสม ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนที่จะคิด ซึ่งมีกระบวนการรองรับอยู่แล้วรวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และการตรวจรายละเอียดของเอกสาร ซึ่งบุคคลดังกล่าวถือว่ามีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ เช่น ท่านจบปริญญาเอกจากต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในด้านการสร้างกระบวนการสื่อสารสาธารณะ มีประสบการณ์ในการเป็นประธานและคณะกรรมการด้านการสื่อสารสาธารณะของหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ เคยเป็นผู้แทนประเทศไทยไปศึกษาดูงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงท่านยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในวิชาด้านสื่อสารมวลชน
“คณะกรรมการได้ดำเนินการไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ให้สามารถสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ เนื่องจาก สพฉ. เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว การดำเนินการต่างๆ ทุกขั้นตอนสามารถ ที่จะให้เข้ามาตรวจสอบดูได้ จากประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ที่บุคคลทั้งภายในและภายนอก สามารถตรวจสอบเอกสารรวมถึงสามารถที่จะแสดงออกในการตั้งข้อคิดเห็น และสังเกตต่างๆได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว