ม.ราชภัฏสุรินทร์ ส่งมอบข้อมูลการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
1 min readวันที่ (7 เมษายน 2564 ) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมล้านช้าง ชั้น 2 อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพล้านช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธาน ในการประชุม ส่งมอบข้อมูลโครงการ “การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” โดยมี รองศาสตราจารย์พงษ์ชาญ ณ ลำปาง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน วิจัย และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวรายงานการดำเนินโครงการ ซึ่งมี ตัวแทนหน่วยบริหารและจัดการทุนด้าน การพัฒนาระดับพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทั้ง 17 อำเภอ พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เข้าประชุมในครั้งนี้
รองศาสตราจารย์พงษ์ชาญ ณ ลำปาง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน วิจัย และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวว่า โครงการ การวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อค้นหา 3 ประเด็นหลัก คือ คนจนที่แท้จริงในพื้นที่เป็นใคร อยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุอะไร และจะใช้ทุนเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไร ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนับเป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน 10 ของประเทศ ที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคน ในด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด ประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยกระบวนการทำงานแบบปูพรม โดยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ จากข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมายในระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคน แบบชี้เป้า (TPMAP) และข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจจริง ครอบคลุมเขตพื้นที่ 17 อำเภอ ของจังหวัดสุรินทร์ รวมจำนวน 13,704 ครัวเรือน
หลังจากนั้นได้เชื่อมโยงนำไปสู่การออกแบบระบบการนำเข้าข้อมูลครัวเรือนยากจน ระบบวิเคราะห์ความสามารถในการดำรงชีพทั้ง 5 มิติ ระบบการจำแนกระดับความยากจน ระบบการออกแบบกลยุทธ์การเอาตัวรอดของคนจน เพื่อแก้ไขปัญหาผ่านองค์ความรู้ทางวิชาการ และส่งต่อความช่วยเหลือคนจนผ่านกลไกที่ทำงานประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม
นอกจากจะทำให้เกิดกลไกการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยระบบช่วยเหลือในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมแล้ว ฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จะมีพลังอย่างยิ่งในการหนุนเสริมผลักดันให้เกิดระบบการสร้างการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของครัวเรือนยากจน ให้เกิดรายได้ สามารถดูแลตนเองและครอบครัว เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับจังหวัด ผ่านกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
ด้าน นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า โครงการการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำนั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลความยากจนและติดตามการช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อออกแบบกลไก กระบวนการวิจัยและเครื่องมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงาน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
เพื่อติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลคนจนและหนุนเสริมกลไกพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดสุรินทร์ และทราบข้อมูล กลุ่มประชากรยากจนของจังหวัดสุรินทร์ ในปี 2562 จีดีพี ของจังหวัดสุรินทร์ อยู่ลำดับที่ 73 ปี 2561 อยู่ลำดับที่ 69 เป็นปัญหาที่น่าหวั่นใจ เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ในวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้ออกสำรวจข้อมมูลประชาชน และส่งมอบข้อมูลของประชาชน ด้วยการชี้เป้าที่ค่อนข้างชัดเจนเพื่อที่ทางจังหวัด จะได้เข้าไปดำเนินการและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมา ทางผู้ว่าฯก็ได้เตรียมการในการเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง กลุ่มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ แบ่งออกมามาจำนวน 4 กลุ่ม ทางจังหวัดจะเลือก1-2 กลุ่ม เป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้เขา ในการดูแลชีวิตขั้นพื้นฐานให้เขา พร้อมมอบหมายให้ส่วนราชการทุกส่วนทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น ไม่ปล่อยให้อัตราส่วนของ จีดีพีมันลดลง ในปี 1-2 ปีข้างหน้าตกยกระดับรายได้ของประชาชนให้สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 5-10 อันดับ และจะเริ่มขับเคลื่อนได้เลย
พร้อมทั้งดำเนินการสุรินทร์ รุ่งเรือง ได้ขับเคลื่อนภาคการเกษตรและเกษตรอินทรีย์ ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นรูปธรรมและขยายพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากพบว่าผู้ทำการเกษตรอินทรีย์ หากทำจริงจังจะมีรายได้สัปดาห์ละ 1,000 บาท ขณะนี้มีการขยายพื้นที่สำหรับผู้ที่ประสบผลสำเร็จไปแล้ว ในเบื้องต้นก็จะให้ผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความตั้งใจอย่างจริงจังเพื่อก้าวไปให้ประสบผลสำเร็จเขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป