สสส. ผนึก 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม MOU ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 โรงเรียนใน จ.เชียงราย (มีคลิป)
1 min readสสส. ผนึก 5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม MOU ขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่น 41 โรงเรียนใน จ.เชียงราย พร้อมมอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรง ด้านผู้ว่าฯ เชียงราย ชื่นชม นวัตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สสส. ทำให้เด็กรู้ภัยอันตราย PM2.5 สู่การเป็น “พลเมืองใหม่” ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน ลดวิกฤตฝุ่นควันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอย่างยั่งยืน เตรียมขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาลมหายใจจังหวัดเชียงราย สมาคมยักษ์ขาว และสมาคมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่นในบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม จังหวัดเชียงราย” พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่โรงเรียนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงใน จ.เชียงราย ต้นแบบการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงค่านิยมในชุมชน
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในปี 2562 จ.เชียงรายเป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้น้อยที่สุดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ จึงไม่ใช้สาเหตุหลักของค่าฝุ่นในพื้นที่ แต่ด้วยทิศทางลมที่พัดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่โล่งของประเทศข้างเคียง อย่างเช่น เมียนมา ลาวเข้ามา พร้อมกับสภาพอากาศที่นิ่งและความกดอากาศสูงทำให้เกิดการขังตัวของฝุ่น PM2.5 ช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของจังหวัดเชียงราย เพราะมีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาการระคายเคืองตาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ จ.เชียงราย ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 มีโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเข้าร่วม 10 โรง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก และคนในชุมชนรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่งได้ และทางเชียงรายมุ่งสร้าง “พลเมืองใหม่” ที่สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผานา-ไร่ในพื้นที่ได้
นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดและขยายผลห้องเรียนสู้ฝุ่นในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในสังกัด อบจ.เชียงรายทั้งหมด 41 โรง รวม จ.เชียงรายมี 51 โรง โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ “มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน และมลพิษข้ามแดน” โดยการเสริมสร้างทรัพยากรด้านความรู้ พัฒนากลไกการมีส่วนร่วม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการสร้างกิจกรรมเสริมหลักสูตร การเรียนรู้ในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาเยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถรู้เท่าทันภัยฝุ่น PM2.5 และสื่อสารส่งต่อองค์ความรู้สู้ภัยฝุ่น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาวะเด็กและประชากรในจังหวัดเชียงรายได้
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สสส. จึงร่วมสานพลังกับภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นสร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอนในโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่ายนำหลักสูตรห้องเรียนสู้ฝุ่นไปใช้ในจังหวัดแพร่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จำนวน 30 โรง และเตรียมขยายผลไปยังโรงเรียนจังหวัดอื่น ๆ ภาคเหนือ เพื่อให้เด็กมีค่านิยมและจิตสำนึกไม่เผานา เผาไร่ จนเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ พร้อมทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลให้กับผู้ปกครอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชนรวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้ความสำคัญขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเอื้อต่อการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ต่อมาเวลา 14.00 น. คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. พร้อมด้วยนายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงาน “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” สนับสนุนโดย สสส. ที่โรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล อ.แม่สาย จ.เชียงราย 1 ใน 10 โรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จ.เชียงราย
โดย ดร.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าแฝ-หนองอ้อ-สันทรายมูล กล่าวว่า โรงเรียนบ้านป่าแฝฯ เคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในเดือนตุลาคม 2563 ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เด็ก ๆ มีความรู้สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และติดธงสีต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ 2 ครั้งต่อวัน คือ ในช่วงเช้าและเที่ยง หากแกนนำนักเรียนปักธงสีแดง หมายถึง มีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เด็กนักเรียนจะงดกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกันนี้ยังได้นำความรู้เรื่องการไม่เผานา-ไร่ ส่งต่อยังผู้ปกครอง แนะนำการกำจัดฟางข้าวด้วยการหมักทำปุ๋ยทดแทนการเผา เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่