อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

คนอุดรฯเฮแอสต้า-ซิโนแวค มาคู่แบ่งฉีด 7 มิ.ย. แต่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียเพิ่มอีก 3 ราย

1 min read

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมพระยาศรีสุริยะราชวรานุวัตร ชั้น 3 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.อุดรธานี มี พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี นพ.ปรเมษฐ์ กิ่งโก้ สาธารณสุข (สสจ.) อุดรธานี พญ.ฤทัย วรรธณวินิต ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี นำคณะกรรมการฯภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมประชุมพิจารณา การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 “อุดรธานี ฉีดวัคซีน ปลดแมส เปิดเมือง” โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนรับฟังช่วงแรก และขอให้รอฟังสรุปจากแถลงข่าว

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุดรธานี ได้รับการแจ้ง จากส่วนกลางมา 1 ครั้ง ว่าเราจะได้รับวัคซีน 246,000 โดส ก็วางแผนจะฉีดให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ยังไม่มีการแจ้งอีก แต่เมื่อมีการปรับแผนภาพรวม อุดรธานีก็ยังไม่ได้รับการติดต่อ ว่าเราจะไม่ได้รับวัคซีนในส่วนไหน การนัดหมายฉีดวัคซีนเริ่มวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งวันต่อไปเฉลี่ยวันละ 12,000 โดส เพราะเมื่อได้รับแจ้งมาเท่าไหร่ จังหวัดก็จะเอายอดมาบริหาร และแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้

นพ.ทวีวัชต์ ศรีกุลวงษ์ รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีน มิ.ย.64 เป็น วัคซีน“ซิโนแวค” 11,360 โดส ใช้ฉีดรอบ 5 เข็ม 2 จำนวน 10,000 โดส , คนไข้พิเศษ 200 โดส และที่เหลือบุคลากรทางการแพทย์ กำหนดฉีดวันที่ 6 มิ.ย. และวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ส่วนวัคซีน “แอสตราเซเนกา” รับจัดสรรคมาแล้ว 3,600 โดส , รับแจ้งวันนี้ (ทางวาจา ส่งก่อน 7 มิ.ย.) 12,000 โดส และอาจจะได้วัคซีน “ซิโนแวค” มาอีก 14,000 โดส ซึ่งจะฉีดได้ 7,000 คน เพราะต้องกันวัคซีนเข็มที่ 2 ไว้ด้วย จากนั้นก็จะเป็นการจัดสรรมาเป็นช่วงๆ

“วันที่ 7 มิ.ย.นี้ ยืนยันการฉีดผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้องรัง 7 โรค ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม และระบุฉีดวันที่ 7 มิ.ย.64 รวม 12,000 คน มีรายละเอียดชัดเจน คือ รพ.อุดรฯ 2,710 , รพ.กุดจับ 570 , รพ.หนองวัวซอ 370 , รพ.กุมภวาปี 820 , รพ.ห้วยเกิ้ง 130 , รพ.โนนสะอาด 450 , รพ.หนองหาน 900 , รพ.ทุ่งฝน 270 , , รพ.ไวยวาน 400 , รพ.ศรีธาตุ 400 , รพ.วังสามหมอ 900 , รพ.บ้านผือ 700 , รพ.น้ำโสม 300 , รพ.เพ็ญ 600 , รพ.สร้างคอม 310 , รพ.หนองแสง 100 , รพ.นายูง 290 , รพ.พิบูลย์รักษ์ 200 , รพ.บ้านดุง 600 , รพ.ค่ายประจักษ์ 120 , รพ.วัฒนา 50 , รพ.มะเร็งอุดร 430 , รพ.เทศบาลนครอุดรฯ 290 , รพ.ประจักษ์ศิลปาคม 100 และ รพ.เอกอุดร 10 ”

นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี แถลงรายละเอียดการประชุมว่า อุดรธานี ได้รับข่าวดีที่เดิม เราได้รับจัดสรรวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ให้ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค 3,800 โดส จากที่ลงทะเบียนเพื่อฉีด 7 มิ.ย.นี้ 11,944 คน โดยเราจะได้รับจัดสรรมา 12,000 โดส ผู้ที่ลงทะเบียนจองไว้ 7 มิ.ย.นี้ ก็ไปรับการฉีดตามสถานที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนลงทะเบียนไว้ต่อจากนั้น คือ 8 , 9 ,10 มิ.ย. หรือวันอื่น ๆ ซึ่งเฉลี่ยวันละ 12,000 คน ยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอให้ส่วนกลางแจ้งมาอีกครั้ง ก็จะแจ้งไปยังประชาชนทันที

“ การฉีดวัคซีนครูราว 15,000 คน เพื่อให้ทันเปิดเรียน 14 มิ.ย.นี้ มีแผนจะฉีดได้บางส่วน 8 มิ.ย.นี้ โดยใช้ 10 %ของวัคซีนแอสตราเซเนก้า 12,000 โดส ที่ 1 ขวดเพิ่มวัคซีนจาก 10 โดสเป็น 11 โดส และ 10-20 %ของวัคซีนแอสตราเซเนก้า 12,000 โดส ที่ผู้ลงทะเบียนไม่ได้เดินทางมาฉีด และวัคซีนซิโนแวค 14,000 โดส สามารถฉีดได้ 7,000 คน เพื่อกัดอีกครึ่งหนึ่งไว้ฉีดเข็ม 2 โดยจะมีการหารือกับศึกษาธิการจังหวัด และคณะผู้บริหารของครู เพื่อเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ซึ่งงวดวัคซีนต่อไปก็จะดำเนินการอีกเพื่อให้ครบ ”

ต่อมา เวลา 14.00 น. นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) อุดรธานี แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ว่าสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดีจนทำให้วันนี้อุดรธานีไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยสะสมคงที่ 495 ราย หายกลับบ้าน 433 ราย รักษาตัวอยู่ รพ. 57 ราย แต่สถานการณ์ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะยังมีผู้เดินทางเข้าออกพื้นที่ และยังพบมีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการอยู่

นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวว่า การตรวจเชิงรุกเพื่อเปิดเมือง รวมทั้งครูที่จะเปิดเรียน 14 มิ.ย.นี้ พบว่ามีครูที่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.หนองคาย แต่สอนอยู่ที่โรงเรียน อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี กลับไปอาศัยอยู่บ้านช่วงปิดเรียน เมื่อจะกลับมาสอนหนังสือจะต้องเข้ารับการตรวจเชิงรุก โดยครูไม่แสดงอาการ แต่จากการตรวจแบบ “แรพพิทเทส” พบว่าติดเชื้อ ครูจึงกลับไปตรวจยืนยันที่ รพ.หนองคาย ด้วยแบบ PCR ผลก็ยืนยันติดเชื้อ ขณะนี้รักษาตัวที่ จ.หนองคาย ในพื้นที่อุดรฯสัมผัสเสี่ยงสูงมีไม่กี่ราย

“สำหรับกลุ่มแม่ค้าถุงเท้า ตลาดคลองถม และตลาดนัด อ.กุมภวาปี อ.โนนสะอาด ที่พบเชื้อจากการตรวจเชิงรุก ผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ สอบสวนยังมีพบที่มาของเชื้อ และติดกันในหมู่เพื่อนแล้ว 3 ราย ล่าสุดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ที่เป็นสามี 1 ใน 3 ก็พบว่าติดเชื้อเป็นรายที่ 4 ทำให้ยังคงต้องเฝ้าระวัง ทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และยังต้องตรวจเชิงรุกหาที่มาของเชื้อในส่วนนี้อยู่ ซึ่งในพื้นที่นี้จึงไม่ไว้วางใจ”

รอง สสจ.อุดรธานี กล่าวอีกว่า อุดรฯตรวจพบผู้ติดเชื้อ “เดลต้า” หรือสายพันธุ์อินเดียเพิ่มอีก 3 ราย แต่ไม่เกี่ยวกับ 4 รายเดิม ที่หายกลับบ้านไปแล้ว 3 ราย เหลือรักษาตัว 1 ราย และไม่มีอาการป่วย ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องกักตัว 14 วัน และเฝ้าระวังอีก 14 วัน โดยทั้ง 3 ราย เป็นแม่อายุ 33 ปี และลูก อายุ 9 และ 12 ปี ทั้งหมดไม่มีอาการรุนแรง ส่วนสามีตรวจหาชื้อ 3 ครั้งยังไม่พบ ยังอยู่ในช่วงการกักตัว โดยครอบครัวนี้น่าชื่นชมที่มีความรับผิดชอบตัวเองทำตามมาตรการจนไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแม้คนเดียว

“สองสามีภรรยาไปทำงาน และอาศัยอยู่ในย่านหลักสี่ ลูกอายุ 9 และ 12 ปี โรงเรียนปิดจึงเดินทางไปอยู่ด้วย แต่เมื่อมีปัญหาการระบาดไซด์งานก่อสร้างถูกปิดไม่มีงาน ทั้งหมดได้เดินทางกลับบ้านที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี มาถึง 23 พ.ค.64 ไปพักที่กระท่อมในสวนยาง วันรุ่งขึ้นมาตรวจหาเชื้อที่ รพ.บ้านดุง พบว่าลูก 2 คนติดเชื้อ สามีไปกักตัวที่สวนยาง ภรรยาดูแลลูกที่ รพ. ศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ได้ส่งตรวจเชื้อเพื่อเฝ้าระวัง ในวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาตรวจแม่ของลูกสองคนพบติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่ รพ.เดียวกัน ในวันที่ 3 มิถุนายนได้รับแจ้งว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า”

โดยมีผู้ป่วยอยู่ในความดูแล รพ.ศูนย์อุดรธานี 35 ราย มีผู้มีอาการหนัก 10 ราย โดย 2 ราย ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ได้รับการดุแลรักษาอย่างใกล้ชิด 8 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันสูง สภาพอาการทรวงตัว ส่วนที่เหลืออาการปกติคงที่ ทั้งนี้การที่ จ.อุดรธานี มีผู้เสียชีวิตสะสม 5 ราย ถือว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เพราะปกติการเสียชีวิตเฉลี่ย 0.77 % แต่ที่ จ.อุดรธานี เฉลี่ย 1 % หนทางที่ดีที่สุดคือ “ฉัดวัคซีน”

ภาพ/ข่าว นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.