พังงา สุดเศร้า!! เจ้าของทุเรียนสาลิกาปลอดสารพิษถูกแมลงและศัตรูพืชโจมตีเสียหายหนัก สูญเงินหลายแสนบาท
1 min readวันที่17 มิถุนายน 2564 นายไสว วงศ์คลัง เจ้าของสวนลุงไสว ผลไม้กลางหุบเขา หมู่ที่ 1 (บ้านลุ่มสาลิกา) ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา นำผู้สื่อข่าวเดินชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ ที่โดนศัตรูพืชโจมตีจนมีผลทุเรียนหล่นลงมาก่อนกำหนดตามใต้โคนต้นเป็นจำนวนมากทั้งทุเรียนสาลิกาและทุเรียนหมอนทอง ขณะที่ทุเรียนสาลิกาที่มีอายุครบกำหนดตัดมาจำหน่าย ก็พบว่าเสียหายกว่าร้อยละ80 เมื่อแกะผลทุเรียนดูจะพบว่าบางลูกมีหนอนอยู่ข้างใน บางลูกเน่าเสียไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะเสียเป็นบางพู ทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่สามารถส่งทุเรียนสาลิกาที่ลูกค้าสั่งจองไว้ได้ คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ไปหลายแสนบาทในปีนี้ โดยสวนผลไม้ของลุงไสว เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งกำลังจะได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน Q ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่นางสาวธันย์บดี หนูเงิน หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาพังงา ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจสอบและหาสาเหตุความเสียหายของผลไม้ และหามาตรการแก้ไขปัญหา
นายไสว วงศ์คลัง กล่าวว่า ตนเองปลูกทุเรียนไว้ประมาณ200ต้น เป็นทุเรียนสาลิกาซึ่งเป็นทุเรียนพื้นบ้านชื่อดังของจังหวัดพังงาประมาณร้อยละ60 ที่เหลือก็เป็นพันธุ์หมอนทองและชะนี ที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้อย่างเป็นกอบเป็นกำทุกปี แต่มาในปีนี้ต้องประสบปัญหาหนอนเจาะไชลูกเสียหายไปกว่าร้อยละ80 ที่ผ่านมาตัดทุเรียนสาลิการอบแรก 210 กิโลกรัม เป็นทุเรียนใช้ได้จริงๆเพียง80กิโลกรัมเท่านั้น ทำให้รายได้ที่ตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้จะได้มากกว่า 500,000 บาท ก็คงจะไม่ได้แล้ว จากการมองดูทุเรียนบนต้นจะดูไม่รู้ เมื่อตัดลงมาดูก็จะเห็นแผล ที่โดนหนอนเจาะ จริงๆในปีนี้ผลผลิตทุเรียนสาลิกาดีมากให้ผลผลิตเกือบทุกต้น แต่มาโดนปัญหาเรื่องหนอนเจาะทำให้เสียหายเยอะ ปีนี้ราคาที่ตนเองขายก็ดีมาก กิโลกรัมละ200 บาท แต่ถุกปัญหานี้ก็ไม่สามารถจัดส่งให้ลูกค้าที่จองไว้ได้ ผลผลิตที่ออกแล้วในปีนี้ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการแกะเนื้อมาแพคกล่องขายเพราะไม่สามารถส่งขายทั้งลูกได้ จึงอยากขอคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตรว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิตในปีต่อไป
นางสุธิรา อินทอง เกษตรอำเภอท้ายเหมือง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างไปส่งตรวจไปตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วพบว่าทุเรียนส่วนหนึ่งที่เน่าเสียภายในเกิดจากปริมาณน้ำที่มากเกินไปในช่วงที่ทุเรียนกำลังเจริญเติบโตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ในส่วนผลที่มีรอยแผลนั้นเกิดจากการเข้าทำลายหนอนผีเสื้อกลางคืน ซึ่งผีเสื้อกลางคืนจะเข้าทำลายตั้งแต่ยังเป็นผลอ่อน จากนี้จะต้องให้เกษตรเก็บผลทุเรียนที่หลุ่นอยู่ใต้โคนต้นมาเผาทำลายและขุดดินทำลายหนอนผีเสื้อที่ฝังตัวลงในดิน
นายบรรเจิด พูลศิลป์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรพังงา กล่าวว่า จากการที่เข้ามาดูแลสวนผลไม้อินทรีย์ของลุงไสว ซึ่งกำลังจะได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน Q ได้ให้คำแนะในการใช้ชีวภัณฑ์ และการจัดการแปลงให้สะอาด และให้เกษตรกรพยายามรวมกลุ่มกันทำเป็นสวนอินทรีย์ เพราะในพื้นที่นี้มีสวนลุงไสวสวนเดียวที่เป็นสวนอินทรีย์ทำให้กลายเป็นเป้าหมายของแมลงศัตรูพืช โดยทางศุนย์จะให้คำแนะนำในการจัดทำพวกชีวภัณฑ์สารล่อแมลงต่างในการไล่แมลง
ภาพ/ข่าว อโนทัย งานดี พังงา