ศอ.บต. ชี้ พื้นที่ จชต. พบเด็กภาวะเตี้ย แคระ แกร็น มากกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศ 2-3 เท่า
1 min readศอ.บต. ชี้ พื้นที่ จชต. พบเด็กภาวะเตี้ย แคระ แกร็น มากกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศ 2-3 เท่า เตรียมดำเนินการแก้ปัญหา หลัง กพต. รับในหลักการ
วันที่ 15 ก.ค. 64 ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กพต.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ ZOOM ณ ห้องประชุม 108 อรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้น ในที่ประชุมมีการเห็นชอบในหลักการที่ กพต. เสนอใน 4 เรื่อง โดยมีการเน้นย้ำให้ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ซึ่งโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่ จชต. ประจำปีงบประมาณ 2564 – 2568 เป็น 1 ใน 4 เรื่อง ที่ประธานได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็กเพื่อให้เป็นไปตามวัย เทียบเท่ากับพื้นที่อื่นๆ
ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่ จชต. เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติแห่งประเทศไทย (UNICEF) มีการวิจัยสถานการณ์ปัญหาสุขภาวะและโภชนาการเด็กเล็กในพื้นที่ จชต. มีภาวะเตี้ย แคระ แกร็น มากกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศ 2-3 เท่า ซึ่งพบว่าจ.นราธิวาส มีค่าเฉลี่ยของเด็กแคระแกร็นสูงร้อยละ 29 ปัตตานี ร้อยละ 19.3 และ จ.ยะลา ร้อยละ 21.3 ซึ่งอัตราเฉลี่ยภาวะเด็กแคระแกร็นในประเทศมีเพียงร้อยละ 10.5 เท่านั้น จึงบ่งบอกได้ว่า เด็กๆในพื้นที่ จชต. มีภาวการณ์ขาดโภชนาการเรื้อรัง มีภาวะผอม และมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุ
ศอ.บต. จึงเสนอช่วยเหลือเด็กเล็กในพื้นที่ จชต. โดยสนับสนุนเงินช่วยเลี้ยงดู เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของรัฐบาล จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กแรกเกิดไม่เกิน 2 ปี ซึ่งมีจำนวน 19,000 คน สนับสนุนเงินช่วยเลี้ยงดูเพิ่มรายละ 400 บาท และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีไม่เกิน 6 ปี ประมาณ 27,000 คน สนับสนุนเป็นเงินช่วยเหลือค่าอาหารเช้า คนละ 300 บาท พร้อมสนับสนุนวิตามินรวม (MPV) เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและสมอง แก่เด็กในพื้นที่ 46,000 คน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี
เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวด้วยว่า ส่วนในเรื่องอื่นอีก 3 เรื่องนั้น ไม่ว่าโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่ จชต. ประจำปีงบประมาณ 2565-2570 , โครงการเมืองปศุสัตว์ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. และการดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองร่างยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา จชต. ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการบริหาร จชต. พ.ศ. 2553 ศอ.บต. มีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ทุกด้านทุกมิติ โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน จชต.
ภาพ/ข่าว อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา