ศุกร์. พ.ย. 1st, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

วิกฤติ..ชาวสุรินทร์ถามหาวัคซีนโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อสูงอันดับหนึ่งภาคอิสาน แต่มีผู้ได้รับวัคซีนไม่ถึง 10 % (มีคลิป)

1 min read

วิกฤติ..ชาวสุรินทร์ถามหาวัคซีนโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อสูงอันดับหนึ่งภาคอิสาน แต่มีผู้ได้รับวัคซีนไม่ถึง 10 % จากประชากรกว่า 1.4 ล้านคน วัคซีนมาแค่ 1 แสนโด้ส ยิ่งพื้นที่ชนบทยิ่งไม่ต้องพูดถึง ลงชื่อแล้วให้รอความหวัง ขณะที่ จ.สุรินทร์ประกาศ ของดรับผู้ป่วยนอกจังหวัด ทุกประเภทแล้ว เนื่องจากเตียงเต็ม

วันที่ 18 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ หลังที่รัฐบาลประกาศให้มีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 64 เป็นต้นมา และจนมาถึงช่วงล็อกดาวน์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 พบว่ามียอดผู้ป่วยเข้ามาในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 100 กว่ารายต่อวันในปัจจุบัน สูงเป็นอันดับ 1 ของ 20 จังหวัดภาคอิสาน ส่งผลทำให้ประชาชนเริ่มหวาดกลัว ในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้านค้า ร้านอาหารตามสั่งเงียบเหงา ขายได้วันละ 1-3 จาน เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยออกมากินเหมือนแต่ก่อน และชาวบ้านส่วนมากก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลบางพื้นที่อยู่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น อ.บัวเชด สังขะ ศรีณรงค์ และอ.ลำดวน ปรากฏว่าร้อยละ 95 ของชาวบ้าน ยังไม่มีใครได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ได้ฉีดมีเพียงบุคลากรทางการแพทย์ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และอสม. แต่ก็ได้แจ้งให้ชาวบ้านไปลงชื่อไว้ วัคซีนมาเมื่อไหร่ค่อยไปฉีด หลายคนลงชื่อไว้ 2-3 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้ฉีด ชาวบ้านหลายรายบอกว่าต้องให้ตายก่อนหรือไงวัคซีนถึงจะมาและได้ฉีด ในขณะที่ตามถนนและตามสี่แยกต่างๆก็พบว่ามีการติดตั้งป้ายคัทเอาท์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ขึ้นคู่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รณรงค์และเชิญชวนให้ชาวบ้านไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยให้ไปแจ้งชื่อกับ อสม. ,โรงบาลพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลอำเภอ ใกล้บ้าน เพื่อขอรับการฉีดวัคซีน แต่เมื่อชาวบ้านไปก็ทำได้เพียงแค่ลงชื่อไว้ ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ฉีด ขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปลงชื่อรับการฉีดวัคซีนที่ไหน เพราะไม่มีใครมาติดต่อสอบถามเลย

นางเมียน สายไทย หรือเจ๊เล็ก อายุ 53 ปี เจ้าของร้าน ขายอาหารตามสั่ง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลสังขะ บอกว่า จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิค-19 เลย อยากจะฉีด แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีใครมาบอกเลยว่าจะให้ทำยังไง ก็มีความกังวลอยู่มากเพราะตอนนี้ในพื้นที่ระบาดเยอะมาก แต่ก่อนแถวอำเภอสังขะไม่มีเลยแต่มาตอนนี้ เริ่มพบผู้ติดเชื้อเยอะมากขึ้น เรื่องวัคซีนถึงตอนนี้ก็ไม่รู้เรื่องเลย กังวลมากในขณะนี้ เรื่องการทำมาหากินก็แย่เปิดร้านขายอาหารตามสั่งจากเคยมีคนมากินและสั่งซื้อหลายสิบรายต่อวัน แต่ตอนนี้ได้แค่ 2-3 จาน ก็บุญแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายก็เยอะไหนจะค่าเช่าร้าน ค่าเล่าเรียนลูก หลายร้านทยอยกันปิดหนีเพราะสู้ไม่ไหว เป็นอะไรที่แย่มาก

ขณะที่นายรุ่งโรจน์ จึ่งสกุล อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128 / 12 เขตเทศบาลตำบลสังขะ เจ้าของร้านรับอัดกรอบพระ และนายแสวง สายไทย อายุ 67 ปี สามีเจ้าของร้านเจ๊เล็ก บอกว่า ก็มีความกังวล อยากจะฉีดวัคซีน แต่ไม่รู้จะฉีดที่ไหน ไม่เห็นมีใครมาบอกมาถาม เห็นแต่ป้ายประชาสัมพันธ์และรถแห่ แต่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรและไม่เห็นจะได้ฉีด ก็งงเหมือนกัน ถึงตอนนี้บอกตรงๆหลอนมากอยากได้ยาฉีด เคยติดต่อไปที่ อสม.ก็บอกว่าจะมาดูให้ ก็ต้องรอดู และเคยไปสอบถามก็ทราบแต่ว่าวัคซีนยังมีไม่พอ ยังมาไม่ถึงให้รอก่อน ที่ผ่านมาคนที่ไปฉีดบางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ ก็ได้แต่รอความหวัง ซึ่งในพื้นที่แต่ละวันมีคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ที่สำคัญอยู่ใกล้พื้นที่ด่านช่องจอม ซึ่งในแต่ละวันมีแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับ จำนวนมาก นับว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง ในแต่ละวันแทบจะไม่ได้ออกไปไหน อยู่แต่ในร้าน เดินไปมาบ้างใกล้ๆบ้านแต่ก็ต้องใส่แมส แต่ก็มีบางคนไม่ยอมใส่ ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัวอยู่เหมือนกัน ทุกวันนี้สั่งข้าวกินยังแทบจะเอาแอลกอฮอล์ฉีดใส่ข้าว มันหลอนขนาดนั้นเลย

นางนิตดา บรรดาศักดิ์ แม่ค้าขายเปลนอนริมถนนสายสุรินทร์-สังขะต.ทับทัน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ บอกว่า ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฉีควัคซีนเลย ไปลงทะเบียนไว้ประมาณเดือนเกือบ 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้ฉีด ก็กังวลเพราะเห็นว่าระบาดหนัก หากได้ฉีดไวๆเพื่อป้องกันเราได้ แต่ว่าลูกที่อยู่ กทม.ได้รับการฉีดแล้ว ส่วนในหมู่บ้านมีเพียง อสม.และผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้รับการฉีดวัคซีน รอบต่อไปเห็นว่าจะฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน

ด้านนายแพทย์สินชัย ตันติรัตนานนท์ สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า จนถึงขณะนี้จังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้วประมาณ 1 แสนราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 8 แสนราย โดยเป็นวัคซีนชนิดซิโนเวคและแอตต้าเชนนิก้า เป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ได้รับ 98-99% ในขณะที่ อสม.ได้รับครบแล้ว สำหรับวัคซีนที่ได้รับทั้งหมด100,580 โดส แบ่งเป็นซิโนแวค 63,280 โดส และแอตตร้า 37,300 โดส ยอมรับว่าหากเปรียบเทียบตามสัดส่วนประชากร ถือว่าเป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนน้อยมาก มีผู้ได้รับวัคซีนไม่ถึง 10 %ของจำนวนประชากร แต่ก็ได้มีการบริหารจัดการเป็นไปตามแผนที่ดำเนินการไว้

สำหรับสถานการณ์โควิค19 ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ไม่พบเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระบาด แต่ต้องจับตามมอง 2-3 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะคนบางพื้นที่ไม่มีการระมัดระวังตัวในการควบคุม ซึ่งได้มีการติดตามกลุ่มเป้าหมาย การดูแลป้องกัน การควบคุมสอบสวน ป้องกันให้ดีที่สุด ส่วนยอดผู้ติดเชื้อในจังหวัดสุรินทร์ ยอดล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคมที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อ 132 ราย และพบผู้เสียชีวิต 1 ราย แต่เป็นการเสียชีวิตระหว่างเดินทาง จาก กทม.ไปยังศรีสะเกษ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อย่างใดและได้มีการดำเนินอำนวยความสะดวกจัดส่งผู้เสียชีวิตไปที่จังหวัดศรีสะเกษแล้ว อย่างไรก็ตามในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดสุรินทร์ จะมีความยุ่งยากบ้าง แต่ก็เป็นไปตามแผนที่ได้ดำเนินการไว้

ทั้งนี้เพจเฟสบุ๊คของ”ศูนย์ข้อมูล COVID-19 จ.สุรินทร์” ได้ออกประกาศระบุข้อความว่า “ประกาศ ของดรับผู้ป่วยนอกจังหวัด ทุกประเภท เพื่อปรับปรุงศักยภาพชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้ เตียงสำหรับรับรองผู้ป่วยสีแดง และสีส้ม ของจังหวัดสุรินทร์ เต็ม! ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564#สุรินทร์ต้องชนะ #สุรินทร์ไม่ทิ้งกัน #DMHTTA”

ขณะที่ รพ.สุรินทร์ กำลังเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สุรินทร์ แต่ละแห่งเตียงเริ่มเต็มแล้ว จังหวัดจึงออกประกาศงดรับผู้ป่วยนอกจังหวัดดังกล่าว และอยู่ระหว่างบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยภายในจังหวัดที่เพิ่มขึ้นให้เพียงพอ และหากมีความพร้อมรับผู้ป่วยนอกจังหวัด ก็จะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง

สำหรับ สถานการณ์ COVID-19 จังหวัดสุรินทร์ (ระลอกใหม่ 26 มิถุนายน 2564) ข้อมูลระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ถึง 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 น. ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 1,556 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ +165 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,218 ราย(โรงพยาบาลสนาม 101 ราย) เป็นผู้ติดเชื้อภายนอกจังหวัดจำนวน 163 ราย อำเภอสังขะ 37 ราย อำเภอเมืองสุรินทร์ 29 ราย อำเภอสำโรงทาบ 14 ราย อำเภอศีขรภูมิ 14 ราย อำเภอรัตนบุรี 13 ราย อำเภอปราสาท 11 ราย อำเภอชุมพลบุรี 11 ราย อำเภอโนนนารายณ์ 9 ราย อำเภอบัวเชด 7 ราย อำเภอลำดวน 5 ราย อำเภอศรีณรงค์ 5 ราย อำเภอสนม 5 ราย อำเภอท่าตูม 3 ราย เป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด จำนวน 2 ราย อำเภอปราสาท 1 ราย อำเภอท่าตูม 1 ราย หายป่วยสะสม 338 ราย (รายใหม่ +96 ราย) อำเภอรัตนบุรี 23 ราย อำเภอเมืองสุรินทร์ 19 ราย อำเภอสังขะ 18 ราย อำเภอชุมพลบุรี 15 ราย อำเภอกาบเชิง 8 ราย อำเภอท่าตูม 6 ราย อำเภอสนม 4 ราย อำเภอจอมพระ 1 ราย อำเภอสำโรงทาบ 1 ราย อำเภอศรีณรงค์ 1 ราย เสียชีวิตสะสม 1 ราย (เสียชีวิตระหว่างเดินทาง จาก กทม.ไปยังศรีสะเกษ) ข้อมูล ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2564

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.