ดร.นาที มอบเตียงกระดาษไว้รองรับ 500 เตียง หลังโควิดพัทลุงพุ่งไม่หยุด
1 min readดร.นาที มอบเตียงกระดาษไว้รองรับ 500 เตียง หลังโควิดพัทลุงพุ่งไม่หยุด ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่อีก 67 ราย ส่วนโรงพยาบาลสนามมีคนเข้ารับการรักษาแล้ว 44 ราย
ผู้สื่อข่าว จ.พัทลุง รายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.พัทลุงมีแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการตรวจเชิงรุกตามอำเภอต่างๆที่ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อของคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่ โดยในวันที่ 19 พบว่าผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 67 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อดังกล่าวนี้เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง 12 ราย อ.กงหรา 33 ราย อ.เขาชัยสน 16 อ.บางแก้ว 4 ราย อ.ป่าบอน และ อ.ศรีนครินทร์ อำเภอละ 1 ราย และรอผลการตรวจอีก 20 ราย และในตอนสายวันที่ 19 ฝ่ายกครอง อ.เมืองพัทลุง สนง.สาธารณสุขอำเภอพัทลุง รพ.พัทลุง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้นำท้องถิ่น อสม. ได้ร่วมกันออกปฏิบัติหน้าที่ ตรวจค้นหาเชิงรุก โควิด-19 ผู้สัมผัสเสี่ยงจากคลาสเตอร์โรงงานเชือดไก่ อีก 114 ราย ซึ่งจะรู้ผลการตรวจในวันที่ 20
ในเวลาประมาณ 14.00 น.วันที่ 19 ที่ห้องประชุมกาบบัว ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพัทลุง เพื่อเตรียมความพร้อมการรองรับผู้ป่วยจากคลัสเตอร์โรงงานเชือดไก่ โดยมีตัวแทนบริษัทฯ เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งในวันที่ 19 จังหวัดพัทลุงได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ครั้งที่ 2 ณ สำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญหาชุมชน ต.พนางตุง อ.ควนขนุน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส คือเฟสแรก 120 ราย เฟสที่ 2 จำนวน 150 ราย และเฟสที่ 3 จำนวน 30 ราย รวมทั้งสิ้น 300 ราย ซึ่งในขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาใน รพ.สนามดังกล่าวแล้ว 44 ราย ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์โรงเชือดไก่นั้น เตียงของรพ.สนามคงจะไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์คลัสเตอร์ดังกล่าวน่าเป็นห่วงยิ่ง
ในขณะเดียวกันทางด้าน ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนใน จ.พัทลุงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงได้มอบหมายให้ นายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง ได้เข้ามาประสานงานกับนายกู้เกียรติฯ ผวจ.พัทลุง เพื่อจะให้การช่วยเหลือเตียงกระดาษต่อจังหวัดพัทลุง เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสนาม และศูนย์กักเก็บตัวของญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาส่งผู้ป่วยของอำเภอต่างๆที่ขาดแคลน จำนวน 500 เตียง
สำหรับโรงงานเชือดไก่ ซึ่งมีพนักงาน คนงานมากกว่า 900 คนนั้น ได้มีการปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 17-27 กรกฎาคม 2664 ขณะนี้ได้ตรวจเชิงรุกไปแล้วประมาณ 500 ราย และในวันที่ 20 จะระดมบุคลากรทางการแพทย์เข้าตรวจกลุ่มเสียงของโรงงานดังกล่าวอีกประมาณ 400 คน และในวันที่ 21 ก.ค.64 ก็จะมีการเก็บตกตรวจกลุ่มเสี่ยงจนหมดทุกราย ซึ่งนายกู้เกียรติฯได้เน้นย้ำให้ทางโรงงานดังกล่าวได้ตรวจสอบ เฝ้าระวังการเก็บกักตัวของคนงานอย่างจริงจัง ในขณะที่ตัวแทนของโรงงานกล่าวว่าโรงงานไม่ได้ลักลอบเปิดโรงงานตามที่เป็นข่าว บุคคลที่อยู่ในโรงงานเป็นผู้ทำความสะอาดโรงงานโดยการฆ่าเชื้อ เท่านั้น
และในตอนบ่ายวันที่ 19 ที่ศาลาประชาคมอำเภอเมืองพัทลุง นายพงศ์เทพประทุมสุวรรณ นายอำเภอเมืองพัทลุง นพ.นายแพทย์ดุษฎี คงตระกูลทรัพย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง นายบุญชู คงเรือง สาธารณสุขอำเภอเมืองพัทลุง และนางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันนำถุงยังชีพ จำนวน 500 ถุง ของมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มามอบให้กับผู้กักเก็บตัวในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง ด้วย