อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

กองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมเต็มร้อย แก้หนี้สมาชิกชุดแรก 45,000 ราย กรณีบุคคลค้ำประกัน

1 min read

กองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมเต็มร้อย แก้หนี้สมาชิกชุดแรก 45,000 ราย กรณีบุคคลค้ำประกัน รอเพียงรัฐบาลอนุมัติงบปี 65 ที่ยื่นขอ 4 พันล้าน

นายมนัส วงษ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หรือ กฟก. เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกที่ได้มาขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฟื้นฟูฯ กรณีที่มีบุคคลค้ำประกัน รวมทั้งสิ้น 230,000 กว่าราย มูลค่าหนี้รวม 50,000 บาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระหรือหนี้ NPLประมาณ 130,000 ราย และจากการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถเข้าไปซื้อหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถทำได้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการช่วยเหลือเกษตรกรทั้ง 130,000 ราย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้กับสหกรณ์การเกษตร ธกส. และธนาคารพาณิชย์

“การแก้ไขหนี้เกษตรกรกรณีที่มีบุคคลค้ำประกัน คาดว่า จะต้องใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาทในการเข้าไปซื้อหนี้แทนตามระเบียบของกองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้นจึงกองทุนฟื้นฟูฯจึงได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแปรญัตติของบประมาณของปี 2565 เพื่อมาดำเนินจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกชุดแรกที่ตั้งเป้าไว้ ประมาณ 45,000 ราย”

นายมนัส กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักเกณฑ์ในการเจรจาหนี้ NPL ตามระเบียบของของกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นจะประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ หนึ่ง เจรจาเพื่อขอประนอมหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกร สอง เจรจาเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ สาม เจรจาเพื่อขอให้เจ้าหนี้ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย ไม่ฟ้องดำเนินคดี หรือไม่บังคับคดีขายทอดตลาด และสี่ เกษตรกรสมาชิกรายไหนที่อยู่ระหว่างการฟ้องบังคับคดีขายทอดตลาด ทางกองทุนฟื้นฟูฯจะไปขอชะลอให้งดการขาย หรือถ้าเกษตรกรมีคุณสมบัติถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเจ้าหนี้ยินยอมขาย ตามเงื่อนไข จะนำไปสู่การชำระหนี้แทนโดยกองทุนฟื้นฟูฯ

ทั้งนี้ ตามระเบียบ กรณีที่มีบุคคลค้ำประกัน กองทุนฟื้นฟูฯให้สิทธิชำระหนี้ได้ รายละไม่เกิน 500,000 บาท และเกษตรกรมีระยะเวลาชำระหนี้ภายใน 20 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยระหว่างนี้เกษตรกรต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพ โดยยื่นโครงการฟื้นฟูอาชีพผ่านองค์กรเกษตรกรที่สังกัด ซึ่งจะได้รับสนับสนุนงบประมาณทั้ง แบบให้เปล่าเพื่อใช้เรียนรู้ศึกษาดูงาน ฝึกทักษะอาชีพ และอื่นๆ และงบอุดหนุน กู้ยืม โดยไม่มีดอกเบี้ย เพื่อใช้เป็นทุนสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อนำมาชำระหนี้คืน

“การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้นั้น ขอยืนยันว่ากองทุนฟื้นฟูฯ ไม่มีเป้าประสงค์ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหนีหนี้ เบี้ยวหนี้ หรือไม่รับผิดชอบหนี้ แต่กลับมีความต้องการและเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการรักษาเครดิต และมีวินัยทางการเงิน จึงของฝากถึงพี่น้องเกษตรกร ทั้งที่เป็นสมาชิกและยังไม่ได้เป็นสมาชิก ถ้ามีปัญหาเรื่องหนี้ ประสบปัญหาวิกฤตจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ให้มาแจ้งกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อที่จะได้ช่วยกันเจรจาหาทางออก โดยติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัด รวมถึงเกษตรกรที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถสมัครได้ในทุกวันทำการที่สำนักงานสาขาจังหวัดเช่นกัน” นายมนัส กล่าวทิ้งท้าย

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.