เสาร์. พ.ย. 2nd, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด แนะ กสทช. ปฏิรูปกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ

1 min read

ตามที่สำนักงาน กสทช. ประกาศยุติการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ภายในวันที่ 3 เมษายน 2565 ทำให้สถานีวิทยุกว่า 4 พันสถานี ที่มีสถานะเป็นผู้ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (อายุใบอนุญาตคราวละ 1 ปี) และสถานีหลักเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการอนุญาต (อายุใบอนุญาตคราวละ 7 ปี) โดยสำนักงาน กสทช. จะใช้หลักเกณฑ์พิจารณาจากกำลังส่งกระจายเสียงในการแบ่งแยกสถานีหลักเดิม (313 สถานี) กับสถานีทดลองเดิม (4,300 สถานี) อาจทำให้การบริหารคลื่นความถี่ที่มีจำกัดส่อขัดเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ แนะ กสทช. ปฏิรูปกิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย

นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. จำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 โดยเป็นรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นั้น เมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่า กสทช. แบ่งผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายเดิมออกเป็น 3 กลุ่ม 1.สถานีวิทยุหลัก 2.สถานีวิทยุทดลองบริการชุมชนและสถานีวิทยุทดลองบริการสาธารณะ 3.สถานีวิทยุทดลองบริการธุรกิจ โดยกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคเป็นเส้นแบ่งระหว่างสถานีวิทยุหลักเดิมใช้กำลังส่งสูง (สูงสุด 40,000 วัตต์ จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่) สถานีวิทยุทดลองเดิม ใช้กำลังส่งต่ำ (สูงสุดไม่เกิน 50 วัตต์ ระยะทาง 1-5 กิโลเมตร)

กสทช.วางหลักเกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติสำหรับสถานีวิทยุหลัก สถานีวิทยุทดลองบริการชุมชนและสถานีวิทยุทดลองบริการสาธารณะ ได้รับใบอนุญาตอายุคราวละ 7 ปี โดยไม่ต้องผ่านการประมูล ส่วนสถานีวิทยุทดลองบริการธุรกิจ ต้องคัดเลือกด้วยวิธีการประมูล

เมื่อตรวจสอบร่างประกาศ กสทช. จำนวน 6 ฉบับ จะเห็นได้ว่ามึความคล้ายคลึงใกล้เคียงกันมากยกเว้นตารางที่ 5 ในร่างแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ปรากฎรายชื่อสถานีหลักเดิมจำนวน 313 สถานี ซึ่งได้กำหนดพิกัดที่ตั้ง กำลังส่ง เสาส่ง แบบมีนัยสำคัญ

การที่กำหนดให้เดือนเมษายน 2565 จริงๆ แล้ว ก็คือการให้นำคลื่นความถี่วิทยุทั้งหมดมาจัดสรรใหม่ แต่คำว่า “จัดสรร” คืออะไร พวกหนึ่ง (313 สถานี ส่วนใหญ่เป็นของทหาร ตำรวจ กระทรวง และกรมต่างๆ ในภาครัฐ) เอาความถี่หลักของเดิมไปใช้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่และกำลังส่ง แต่อีกพวกนึงกลับถูกบีบให้ลดกำลังส่งลงเหลือ 50 วัตต์ และต้องเข้ามาประมูลเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเข้านิยามของการจัดสรรที่เป็นธรรมได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าศาลปกครองคงได้ประทับรับฟ้องและวินิจฉัยคำฟ้องกันอีกรอบหนึ่งแน่นอน นอกจากนี้ในการประมูลสถานี 50 วัตต์ ยังมีเงื่อนไขอีก ก็คือ หากความถี่นั้นไปใกล้เคียงหรือตรงกับสถานีหลักเดิม ผู้ที่ประมูลได้จะต้องลดกำลังส่งลงให้พอเพียงที่จะไม่เกิดการรบกวนต่อสถานีหลักเดิมด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้คงต้องตอบคำถามประชาชนว่า กสทช. ใช้เหตุผลอะไรในการคุ้มครองและให้อภิสิทธิ์กับสถานีหลักเดิมอย่างออกหน้าออกตาเช่นนี้ ทั้งที่วัตถุประสงค์ของแผนความถี่วิทยุฯ ฉบับที่ประกาศใช้งานปัจจุบันมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการจัดสรรความถี่วิทยุใหม่ทั้งหมด

ดังนั้นภายหลังเดือน เมษายน 2565 หาก กสทช.ต้องการตอบสนองกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องของความเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างแท้จริงแล้ว จึงไม่ควรมีคำว่าอดีตสำหรับทุกกรณีอีกแล้ว เพราะคำว่า “สถานีหลัก” หรือ “สถานีทดลองฯ” ต่างก็เป็นอดีตเหมือนกันและควรที่จะมิสิทธิ์ในการได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุครั้งใหม่นี้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน การที่ กสทช. ไปให้สิทธิ์ ของ “อดีต” สถานีหลักเดิมอย่างมากมายผิดปกติ ก็ฉายแววการเริ่มต้นที่ไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมแล้ว (กลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว) การที่มีการอ้างถึงผลประโยชน์จากสัมปทานการเช่าเวลาใช้ความถี่ของภาคเอกชนที่มีต่อสถานีหลักในปัจจุบันและไปห่วงกังวลผลประโยชน์เดิมของสถานีหลักเหล่านี้แทนเสียเองโดยนำมากำหนดในร่างประกาศฯ ใหม่ทั้งห้าฉบับนี้ให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อสถานีหลักทั้ง 313 สถานีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก เพราะแผนความถี่ที่บังคับใช้ในเดือน เมษายน 2565 ไม่ได้มีการกำหนดความเกี่ยวข้องและไม่ผูกพันกับผลประโยชน์ระหว่างสถานีหลักเดิมและผู้เช่าเวลาใดๆ เลยทั้งสิ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องไปเจรจาและแก้ไขปัญหาเอง ซึ่งทาง กสทช.จะเอามาเป็นเงื่อนไขในการจัดสรรแบบฟรีๆ สบายๆ ให้กับสถานีเหล่านั้นในครั้งนี้ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของแผนความถี่และกฎหมายประกอบที่เกี่ยวข้อง จึงถือว่ากระทำการผิดหลักธรรมาภิบาลล้านเปอร์เซ็นต์

การยกประโยชน์ให้กับสถานีหลักโดยไม่ต้องมีการประมูลและอนุญาตให้ใช้สถานที่เดิมและกำลังส่งเท่าเดิม มีสาเหตุเดียวที่ กสทช. ใช้อ้างในการจัดสรรให้หลังเมษายน 2565 ก็คือ เพราะอดีตสถานีเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม “สถานีวิทยุสาธารณะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามกลุ่มที่เพิ่งถูกกำหนดขึ้นมาโดย กสทช. ชุดนี้ ในขณะที่สถานีหลักเหล่านั้น ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมไปรษณีย์โทรเลขในอดีตว่าเป็น “สถานีวิทยุสาธารณะเพื่อความมั่นคง” ซึ่งนิยามของคำว่า “สาธารณะ” ตามประกาศของ กสทช. นั้นขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงกับสถานีหลักที่ใช้คำว่าเป็น “สถานีวิทยุสาธารณะเพื่อความมั่นคง” อย่างมาก ในทางกลับกันวิธีปฏิบัติของสถานีฯ ดังกล่าวกลับไปสอดคล้องกับนิยามของสถานีวิทยุใน “กลุ่มธุรกิจ” ที่ กสทช.เอง ได้บัญญัติขึ้นมาชัดเจนมากกว่าเสียอีก ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้ได้รวมเอาสถานีวิทยุของ อสมท. และ สถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการอีกเกือบสี่พันสถานีเข้าไปด้วย ทั้งหมดจึงเข้าข่ายที่จะต้องเข้าไปประมูลความถี่กันทั้งหมด ซึ่งสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการฯ เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของประชาชนในระดับล่างถึงกลาง แต่ต้องมาหาทุนในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อตั้งสถานีวิทยุกำลังส่งเพียง 50 วัตต์ เท่านั้นเองเหรอ

คำว่า “เพื่อความมั่นคง” ที่นำมาต่อท้ายคำว่า “สาธารณะ” จึงควรจะดำเนินการต่อไปนี้หรือไม่ เพราะไหนๆ ก็จะมีการบังคับใช้แผนความถี่ใหม่ตามประกาศ กสทช. และจะมีการจัดสรรใหม่กันแล้ว สถานีหลักเดิมที่เคยใช้คำว่าเป็น “กลุ่มสาธารณะเพื่อความมั่นคง” ควรถูกยกเลิกการใช้คำนี้และจัดเข้ามาอยู่ใน “กลุ่มธุรกิจ” ตามนิยามที่ กสทช.ประกาศออกมาเช่นเดียวกับสถานีวิทยุ อสมท. และสถานีทดลองฯ กลุ่มธุรกิจ หรือไม่ เพราะภารกิจและผังรายการไม่ได้แตกต่างกันเลย คำว่า “เพื่อความมั่นคง” ไม่มีนิยามใดๆ ในประกาศของ กสทช.เลยสักฉบับเดียวว่าเป็นสถานีวิทยุสาธารณะที่อนุญาตให้มีการโฆษณาหรือปล่อยเป็นสัมปทานให้บริษัทเอกชนเช่าเวลาเหมาไปทำธุรกิจได้ กสทช.ควรจัดกลุ่มของ 313 สถานีหลักเดิมเหล่านี้ให้ตรงกับนิยามของแต่ละกลุ่มที่ กสทช. ได้ประกาศไว้ให้ตรงนิยามมากที่สุด มิฉะนั้นจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ตนเองประกาศไว้อย่างชัดเจน แต่ถ้า กสทช. ตัดสินใจจัดกลุ่มสถานีได้ตรงตามที่ กสทช. ได้ประกาศไว้แล้ว การจัดสรรความถี่ก็จะตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง เป็นธรรม และเท่าเทียม

บทเรียนเมื่อปลายปี 2563 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้เพิกถอนข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 เพราะ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ก็เคยปรากฏขึ้นมาแล้ว เนื่องจากเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเสรี และลิดรอนสิทธิของรายใหม่ จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่สำนักงาน กสทช. คิดว่ามันคือสิ่งที่ดีและถูกต้องที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายเป็นการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงเสนอแนะว่าสิ่งที่ กสทช. ควรกระทำก็คือการสร้างมาตรฐานของสถานีวิทยุคุณภาพและนำมาตรฐานดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาต เพื่อใช้เป็นวิธีการคัดเลือกคุณสมบัติแทนวิธีการประมูล ไม่ใช่ใช้ขนาดของกำลังส่งต่ำที่ 50 วัตต์มาอ้างอิงว่าจะไม่ทำให้เกิดการรบกวนเพียงอย่างเดียว

“กิจการวิทยุกระจายเสียงภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเกิดความสมดุลในสังคมไทย” นายสุทนต์ กล้าการขาย กล่าว

ภาพ/ข่าว สมัย นิกูลรัมย์

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.