สำนักงาน ป.ป.ช. เชิญภาคประชาชนร่วมปักหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริต ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
1 min readวันที่ 3 สิงหาคม 2564 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต นำโดยนางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต พร้อมด้วย รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการ Focus Group เพื่อพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ครั้งที่ 4 ในพื้นที่ภาค 6 (ภาคเหนือตอนล่าง) ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการการพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตในระดับพื้นที่ผ่านกระบวนการ มีส่วนร่วมของภาคประชาชนชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ในพื้นที่ภาค 6 จำนวน 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี นำมาจัดทำเป็นแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (Corruption Risk Mapping) เพื่อใช้ร่วมกับฐานข้อมูลด้านอื่น ๆ ของสำนักงาน ป.ป.ช. อาทิ สถิติคดี และผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ในการกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับประเทศต่อไป
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ดำเนินการผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom Meeting โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ภาค 6 ตลอดจนสมาชิกชมรม STRONG จิตพอเพียง ต้านทุจริตจาก 9 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 70 คน ทั้งนี้ ภาพรวมผลการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในพื้นที่ภาค 6 ประเด็นที่สมาชิกชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตร่วมกันอภิปรายเพื่อแสวงหาแนวทางการนำข้อมูลความเสี่ยงต่อการทุจริตไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหา อาทิ ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐผ่านโครงการก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ การใช้ดุลพินิจตามหน้าที่ และอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการเสนอราคาของภาครัฐ การกระทำที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น การนำรถยนต์ของราชการส่วนกลางไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว การเบิกจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ
การบริหารจัดการโครงการที่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ และความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นต้น