อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

ลุงเล็ก เฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ เจ้าของสวนเมืองพรเขายายเที่ยงโคราช ขอความเป็นธรรมกับสังคม เรียกค่าเสียหายที่เกิดจากภาครัฐ

1 min read

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 กันยายน 2564 ที่โรงแรมโคราชโฮเต็ล อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายเฉลิมเกียรติ คล้ายสุวรรณ อดีตเจ้าของ “สวนเมืองพร” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พร้อมทนายความร่วมแถลงข้อเท็จจริง “น่าจะผิดปรกติในคดีจุดจบ สวนเมืองพร ตำนาน 20 ปี กับการต่อสู้ยาวนาน 16 ปี ได้สิ้นสุดลงด้วยความเป็นธรรมทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่” พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรมกับสังคม

นายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า ย้อนรอยที่ดินพิพาทมูลเหตุของคดีตนทำสัญญาเช่ากับราชพัสดุจังหวัด กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จำนวนพื้นที่ 36 ไร่ 65.6 ตารางวา โดยเช่าตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 22 เมษายน 2539 วัตถุประสงค์ 5 สัญญา ประกอบด้วย เพื่อการเกษตร 2 สัญญา ,เพื่ออยู่อาศัย 2 สัญญาและเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ขอทวงถามความเป็นธรรมการดำเนินคดีและความคืบหน้าการร้องเรียน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. และช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส. และประธานคณะกรรมาธิการ ปปช. พร้อมแนบรายละเอียดทางคดีและเอกสารกรมป่าไม้ เนื่องจากเคยเป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือนักโทษ ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 8 ปี ในคดีที่ 16060/2557 เมื่อ 8 ธันวาคม 2557 หลังถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 3 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วประเทศปี 2562 เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้ลดโทษและพักการลงโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์

ข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติน่าจะผิดปรกติคือเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่เช่ากับกรมธนารักษ์ โดยชำระค่าเช่าต่อเนื่องตามสัญญาเช่นเดียวกันกับราษฎรกว่า 300 ครอบครัว รวมระยะเวลากว่า 20 ปี ไม่เคยผิดสัญญาและที่ดินที่มิได้ล่วงล้ำเกินเลยจากสิทธิตามสัญญา แต่ทำไมต้องติดคุก สัญญานี้เป็นการเช่าคุกกรมราชทัณฑ์หรือเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ ซึ่งในคดีใครคือผู้บุกรุกป่าสงวนตัวจริงระหว่างนายสมเกียรติหรือกรมธนารักษ์ ที่ผ่านมาตนถูกเลือกปฏิบัติทั้งๆที่เป็นคู่สัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมายกับ กรมธนารักษ์ไม่มีเจตนากระทำความผิดจะรู้ได้อย่างไรใครเป็นผู้มีอำนาจในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อคดีสิ้นสุดต้องเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินต่อไป อาจส่งผลร้ายกับผู้ทำนิติกรรมกับภาครัฐไม่ว่าอดีต ปัจจุบันหรืออนาคต โดยเฉพาะกับกรมธนารักษ์ ในประเด็นการกระทำความผิดควรดูที่เจตนาหรือไม่ ชีวิตต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมดทั้งๆที่สัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ทั้ง 5 ฉบับยังมีผลบังคับใช้ครอบครองที่ดินโดยชอบ ค่าเช่าชำระตามสัญญาเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน เฉลี่ย 3-4 หมื่นบาทต่อปี แต่กลับติดคุกได้อย่างไร

ทั้งนี้ขอให้พิจารณาให้ความเป็นธรรมการสอบข้อเท็จจริงและหากผลเชิงประจักษ์ถึงความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมและการผิดสัญญาของกรมธนารักษ์ ขอรับการชดเชยหรือเยียวยาในสิ่งที่ควรได้รับตามกฎหมาย เช่น 1. คืนสิทธิสัญญาการเช่า 2. ชดใช้คืนสิ่งก่อสร้างที่สูญเสียไปทั้งหมดจากการต้องถูกรื้อถอนตามคำบังคับคดี จำนวนเงิน 43,633,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 % ต่อปี ตามหลักฐานที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 3. ค่าเสียหายที่อาจต้องชดใช้ให้แก่กรมป่าไม้ตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้ด้วยแล้วเป็นจำนวนเงิน 4,443,320.25 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % ต่อปี นับแต่ 1 มีนาคม 2544 เป็นต้นมา 4. ขาดโอกาสทางธุรกิจหมดเครดิตทางการเงิน 5.เสื่อมเสียชื่อเสียงทางสังคม 6.ขาดอิสสระภาพโดยถูกจองจำเป็นเวลากว่า 3 ปี และสิทธิมนุษยชนอันพึงมี ขณะนี้ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องแพ่งต่อคู่สัญญาคือกรมธนารักษ์ตามสิทธิและกระบวนการกฎหมายและขอตั้งคำถามถึงประธานคณะกรรมการตุลาการ,ประธานศาลฎีกา ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “คดีนี้ได้สิ้นสุดลงด้วยความเป็นธรรมทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้วใช่หรือไม่”

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.