วัฒนธรรมนครปฐม นำสนอข้อมูลประกวดระดับประเทศกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา
1 min readเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 ประเภทกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยกลุ่มแม่บ้านฯ นำเสนอข้อมูล และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีนางสาวจงดี เศรษฐอำนวย ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรฯ และคณะฯ เข้าร่วมการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มฯ พร้อมด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผลการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ 2564 หากผ่านการคัดเลือกในระดับประเทศ จะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ โดยได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ในการนำเสนอรายละเอียดข้อมูลและผลงานของกลุ่มแม่บ้านฯ ดร.สุดารัตน์ พงศ์อัมพรไกวัล วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ในฐานะที่ปรึกษา และหน่วยงานราชการที่ให้การสนับสนุน ได้นำเสนอข้อมูลรายละเอียดการขับเคลื่อน การดำเนินงานของกลุ่มฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาจากคณะกรรมการ อีกทั้งได้รับเกียรติจาก นางสาวสลาลีวรรณ ทัพทวี นายอำเภอพุทธมณฑล อาจารย์วันวิสา นิยมทรัพย์ กรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายหัสนัย จิตอารีย์ อดีตนายอำเภอพุทธมณฑล อาจารย์วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ศิลปินอิสระ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมนำเสนอในมิติต่างๆ และประสบการณ์ ความประทับใจ และผลงานเชิงประจักษ์ และเชิงคุณภาพ ที่หน่วยงานและตนเองเคยได้รับจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปผลไม้และอาหาร ตำบลศาลายา เกิดจากความร่วมแรง ร่วมใจ ความรัก ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน โดยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โดยมีการใช้พื้นที่ของตนเองให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมในครัวเรือน เมื่อมีผลผลิตมากพอได้นำมารวมกลุ่มออกจำหน่ายโดยมีผัก ผลไม้สด และแปรรูป ซึ่งในปัจจุบันจะมีหน้าร้านจำหน่ายในชุมชน แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ใน Shopee (ช้อปปี้) Lazada (ลาซาด้า) Facebook (เฟสบุ๊ค) และเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มจำนวนยอดจำหน่ายจากเดิมเป็น อย่างมาก ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันนี้ได้รับความนิยมและได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า อาทิ ขนมผิง ชาเกสรดอกบัวหลวง (ลดไขมันในเส้นเลือด) /ชากลีบบัวหลวง (ป้องกันโรคอัลไซเมอร์) ผลิตภัณฑ์ชาได้รับการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล
ในเรื่องของสรรพคุณทางยา /ขาหมูสู้ไม่ถอย (ออกรายการครัวคุณต๋อย) / ข้าวอบใบบัว /เมี่ยงคำกลีบบัวหลวง/ มะม่วงกวน /ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะได้มีการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยจะมีการพัฒนาผักและผลไม้ต่างๆ ในระบบฟรีซดราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการทำให้แห้งเยือกแข็งแบบสูญญากาศ ในอาหาร ผัก ผลไม้ โดยจะนำกล้วยหอมทองมาพัฒนาปรุงรสต่าง ๆ กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว และอื่นๆ ซึ่งจะพยายามที่จะผลักดันทำโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกต่อไป อีกทั้งที่ผ่านมาได้ตอบรับในการให้ข้อมูลให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อทำวิจัยในเรื่องการทำเกษตร แหล่งเรียนรู้ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ที่เข้ามาในกลุ่มฯ และชุมชนตลอดมา ในปัจจุบันด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดจึงได้มีการให้ปรับการให้ความรู้จากเข้ามาเรียนรู้ในชุมชน ปรับมาเป็นระบบการให้ความรู้แบบใช้โปรแกรมซูม เพราะมีความตระหนักอยู่เสมอว่าการให้ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อให้คนที่เรียนรู้นำไปประกอบเป็นอาชีพ สามารถดำรงตนอยู่ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นภารกิจอีกด้านของกลุ่มฯ โดยมีคำขวัญที่ทุกคนในกลุ่มได้สืบสานและปฏิบัติเสมอมา คือ “สินค้ามีมาตรฐาน สืบสานประเพณีดีงาม สรรค์สร้างกิจกรรมชุมชน พัฒนากลุ่มตนสู่ความยั่งยืน”
ภาพ/ข่าว ปนิทัศน์ มามีสุข / นส.ปณิดา มามีสุข จ.นครปฐม