ผวจ.อ่างทองเดินหน้าโครงการ “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง”
1 min readผวจ.อ่างทองเดินหน้าโครงการ “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” ปล่อยปลา 150,000 ตัว เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทุ่งกลับคืนมา
วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 10.30 น. ณ ท้องทุ่งนาหนองกระทิง หมู่ที่ 8 ตำบลสามโก้ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียน จำนวน 150,000 ตัว ตามโครงการส่งเสริมการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยแบบครบวงจร “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” โดยมี นายอภิชาติ ศรีเหรา นายอำเภอสามโก้ พร้อมด้วย นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัด นางสาวจิระภา โพธิ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง นายสุชาติ คงประสงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสามโก้ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่ร่วมปล่อยปลาในวันนี้
ด้านนายอภิชาติ ศรีเหรา นายอำเภอสามโก้ กล่าวว่า ในปีนี้สถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอสามโก้มีปริมาณมากกว่าทุกปีจึงได้ร่วมกับทางสำนักงานประมงจังหวัดอ่างทอง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอ่างทอง กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบอุทกภัยซ้ำซาก และเป็นการจัดระบบการปลูกข้าวให้ได้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้ทันต่อกำหนดการเปิดพื้นที่เป็นพื้นที่รับการระบายน้ำ ซึ่งเป็นช่วงการ “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” มีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุ่งนาหนองกระทิง หมู่ที่ 8 ตำบลสามโก้เป็นคลองที่ไหลผ่าน ครอบคลุมเขตตำบลมงคลธรรมนิมิต และตำบลสามโก้ เมื่อปลาที่ปล่อยโตขึ้นสามารถสร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารของชุมชนได้อีกด้วย
นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า โครงการ”ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง”เป็นโครงการที่ดีและแสดงถึงการบูรณาการในการทำนาที่ได้ประโยชน์จากการหยุดทำนา แล้วใช้พื้นที่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ กิจกรรมครบวงจร “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” จัดทำขึ้นเพื่อจัดระบบช่วงเวลาปลูกข้าวปลอดภัย โดยให้สอดคล้องกับการจัดสรรน้ำของกรมชลประทาน ลดการระบาดของศัตรูพืช และลดผลกระทบจากอุทกภัย ที่อาจท่วมขังในพื้นที่นาลุ่ม พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ ขณะพื้นที่นาถูกปล่อยน้ำเข้านาช่วงฤดูฝน และฤดูน้ำหลาก
ด้านนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทอง นับเป็นอีกจุดหนึ่งที่อยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งได้ใช้โอกาสนี้ในการจัดทำโครงการ “ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำอาชีพประมงได้ในช่วงที่ไม่ได้ทำนาข้าว โดยสามารถจับสัตว์น้ำจำหน่ายหรือบริโภคได้ ขณะเดียวกัน เมื่อครบระยะเวลาของการเข้าสู่การทำนา สภาพดินก็จะถูกปรับจากซากซังตอที่จมน้ำ กลายเป็นปุ๋ย สามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามฤดูกาล
ดังนั้น เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทุ่งรับน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงฤดูน้ำหลาก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อย่างไรก็ตามการ ”ผันน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” ในช่วง 2 เดือนนี้ จะเป็นช่วงที่เกษตรกรไม่ได้ทำนา จะมีอาชีพเสริม มีรายได้อีกด้วย
เอกลักษณ์ ยอดขำ / หัวหน้าข่าวเฉพาะกิจ-ตระเวนข่าว