ศรีสะเกษ ชาวบ้านนำแหหุบมาจับปลาจำนวนมากที่เขื่อนราษีไศล
1 min readศรีสะเกษ ชาวบ้านนำแหหุบมาจับปลาจำนวนมากที่เขื่อนราษีไศล ขณะที่น้ำจากเขื่อนเอ่อทะลักเข้าไปท่วมไร่นาเป็นบริเวณกว้างกว่า 10,000 ไร่
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนราษีไศล ต.หนองแค อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ปรากฏว่า ขณะนี้ได้มีมวลน้ำมหาศาลไหลหลากมาจาก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์และ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ไหลทะลักเข้ามาที่บริเวณเขื่อนราษีไศล ทำให้เขื่อนราษีไศลต้องเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บานเพื่อปล่อยให้น้ำไหลไปตามธรรมชาติ และได้ส่งผลให้ไร่นาของชาวบ้านตามเส้นทางที่ลำน้ำมูลไหลผ่านคือ อ.ราษีไศล อ.กันทรารมย์ อ.เมือง อ.ยางชุมน้อย โดยน้ำจากแม่น้ำมูลได้เอ่อล้นเข้าไปท่วมไร่นาของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้างประมาณ 10,000 ไร่ แต่ว่าไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนของชาวบ้านแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ที่บริเวณด้านข้างเขื่อนราศีไศลได้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งพากันนำเอาแหหุบ ซึ่งเป็นการดัดแปลงจากแหฝรั่งมาผสมผสานกับแหไทยดัดแปลงมาเป็นแหหุบ มาทอดแหจับปลาที่ด้านท้าย เขื่อนราษีไศลกันอย่างคึกคักมาก ชาวบ้านสามารถจับปลาได้เป็นจำนวนมาก ปลาส่วนมากที่จับได้จะเป็นปลานกเขา ปลาสูตร ปลาเก้ง และปลาขาวสร้อย โดยมีบรรดานักท่องเที่ยวมาเฝ้าชมการนำเอาแหหุบมาจับปลากันอย่างสนุกสนาน ชาวบ้านได้ทอดแหหุบจับปลาขึ้นมาจากแม่น้ำมูลเป็นปลาขนาดค่อนข้างใหญ่ สร้างความฮือฮาให้กับกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมกันจับปลาและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมีนักท่องเที่ยวจะพากันมาหาซื้อปลาที่จับขึ้นมาได้สดๆ จากแม่น้ำมูล เพื่อนำเอาไปทำเป็นอาหารกินกันทันที
นายเปลี่ยน เกตุศิริ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7 หมู่ 13 บ้านหนองตอ ต.โดด อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิธีทำแหหุบขึ้นมาเล่าว่า แหหุบ เป็นการนำเอาแหฝรั่งมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานจับปลาของชาวบ้านแถบนี้ ซึ่งการทำงานของแหหุบนั้น ตนจะนำเอาสายเอ็นไปดึงกับเพลาหรือลูกแหที่เป็นลูกโซ่อยู่ข้างล่าง เมื่อทอดแหหุบลงไปในน้ำเพื่อจับปลาแล้วจะค่อยๆดึงเอาสายเอ็นขึ้นมา เพื่อให้สายเอ็นดึงเอาลูกแหที่อยู่ข้างล่างหุบขึ้นมาข้างบน จะทำให้ปลาที่จับได้ไม่หลุดออกไปจากแหและแหจะไม่ขาด ทำให้สามารถจับปลาขนาดต่างๆ ได้เป็นจำนวนมากกว่าการใช้แหไทยทั่วไป โดยวันหนึ่ง ๆตนสามารถจับปลาได้วันละหลายสิบ กก. จะขายปลา กก.ละ 60 บาท สร้างรายได้วันละ 700-800 บาท บางวันจับปลาได้เยอะมากจะมีรายได้ถึงวันละ 1,000 บาทเศษ ทำให้มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ได้เป็นอย่างดี
ทางด้าน นายชาลี สุขศรี อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 144 ม.6 ต.หนองครก อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ประธานชุมชนหนองยาง ซึ่งมาเที่ยวชมการจับปลาที่เขื่อนราษีไศล กล่าวว่า ตนกับครอบครัวมาเที่ยวที่เขื่อนราษีไศลเป็นประจำ เนื่องจากว่า อากาศเย็นสบาย สดชื่น และมาชมการจับปลาของพี่น้องชาวบ้านที่พากันมาจับปลาจากแม่น้ำมูลกันอย่างคึกคัก โดยหากว่ามีการจับปลาได้ตัวโตๆ ตนก็จะเข้าไปขอซื้อปลาเพื่อนำเอาปลามาจ้างให้ร้านอาหารที่อยู่ริมเขื่อนราษีไศลทำเป็นอาหารให้กินทันที เนื่องจากว่าปลาที่จับได้สดๆจากแม่น้ำมูล เนื้อสดและนุ่มมาก เมื่อนำเอาไปทำเป็นอาหารรับประทานจะมีรสชาติอร่อยมาก
ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ