ปจ.ตาก ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ หลังน้ำล้นสปิลเวย์ พร้อมช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ถูกน้ำป่าพัดสะพานขาด
1 min readปจ.ตาก ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ หลังน้ำล้นสปิลเวย์ พร้อมช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านที่ถูกน้ำป่าพัดสะพานขาด จนเส้นทางสัญจรถูกตัดขาดในพื้นที่ ต.แม่ท้อ อ.เมืองตาก
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายจรัสพันธ์ อรุณคง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตาก นายสุเทพ ประเสริฐน้อย ประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก นายประสิทธิ์ บุญแย้ม หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานตาก ปลัดอำเภอเมืองตาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ หลังน้ำล้นสปิลเวย์
โดยอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้อ เป็นอ่างเก็บน้ำในโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2535 มีความจุ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หลังจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ท้ออย่างต่อเนื่อง จึงทำให้น้ำเต็มความจุของอ่างและไหลออกทางน้ำล้น หรือสปิลเวย์ ทั้งนี้ หากฝนไม่ตกและไม่มีน้ำไหลลงอ่างเพิ่มเติมจะทำให้สถานการณ์น้ำในอ่างกลับสู่ภาวะปกติ เบื้องต้นปลัดจังหวัดตาก ได้ให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทาน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
จากนั้น ปลัดจังหวัดตาก และคณะได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสะพานข้ามลำห้วยลานสาง บ้านลานสาง หมู่ 9 ตำบลแม่ท้อ หลังจากที่น้ำป่าจากอุทยานลานสางไหลหลาก พัดซากไม้ติดสะพาน และพัดถนนในหมู่บ้านขาด และเสาไฟฟ้าหักไหลไปกับน้ำ จำนวน 3 ต้น เบื้องต้นผู้นำชุมชนและชาวบ้านได้ช่วยกันเร่งตัดและนำซากไม้ออกจากสะพานดังกล่าว เพื่อป้องกันน้ำพัดสะพานขาด
หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบถนนทางเข้าหมู่บ้านลานสาง หมู่ 11 ตำบลแม่ท้อ ซึ่งถูกน้ำจากลำห้วยอุมยอมไหลหลากพัดถนนซึ่งมีท่อลอดใต้ถนนขาดเสียหาย ทำให้ประชาชน 17 ครัวเรือน จำนวนกว่า 50 คน ถูกตัดขาดจากเส้นทางสัญจรไม่สามารถเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ซึ่งชาวบ้านต้องใช้สลิงพาดกับเสาไฟฟ้าเพื่อส่งอาหารเข้าไปยังหมู่บ้านที่ถูกตัดขาด
ทั้งนี้ ปลัดจังหวัดตาก ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งซ่อมแซมถนนให้กลับคืนสภาพเดิมให้เร็วที่สุด ซึ่งจะสามารถดำเนินการซ่อมได้หลังจากน้ำแห้งหรือน้ำลดลง และให้อำเภอเมืองตากดูแลส่งอาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค และถุงยังชีพ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะดำเนินการซ่อมแซมถนนแล้วเสร็จ