พรรคประชาชาติเสนอร่าง พ.ร.บ. กยศ.ใหม่อีกครั้ง ‘กมลศักดิ์’ ชี้ กยศ.ต้องปลอดดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ-ขยายเวลาชำระหนี้ 30 ปี
1 min readการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2565 ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่..) พ.ศ.. ซึ่งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติและคณะเป็นผู้เสนอ โดยนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ (ทนายแวยูแฮ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาส เขต 4 (บาเจาะ ยี่งอ รือเสาะ ศรีสาคร) พรรคประชาชาติ ได้ร่วมอภิปรายด้วย
นายกมลศักดิ์ อภิปรายว่า “ความจริงแล้วพรรคประชาชาติได้ยื่นร่างกฏหมาย พ.ร.บ. กยศ.ฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2563 เราเล็งเห็นว่าปัญหาหนี้ กยศ. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาร้ายแรง เพราะมีการศึกษาต่ำที่สุด และมีปัญหายากจนที่สุด หนี้ กยศ.ได้สร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนจำนวนมาก แต่ได้รับแจ้งจากรัฐสภาว่า ร่างที่เสนอไปนั้นเกี่ยวข้องกับการเงินจึงไม่นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฏรเพื่อพิจารณาเป็นร่างฉบับแก้ไข แต่ไม่เป็นไรถ้าเรามีเจตนาดี ทุกอย่างพระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้แล้ว อยู่ดีๆต้นปี 2565 ฝ่ายรัฐบาลก็ยื่นร่างกฏหมาย กยศ. เข้ามา พรรคประชาชาติจึงยื่นร่างกฏหมายฉบับนี้เข้ามาอีกครั้ง และเป็นไปตามคาดว่านายกรัฐมนตรีต้องเซ็นรับรอง จึงขอขอบคุณ”
“ร่าง พ.ร.บ. กยศ. ที่พรรคประชาชาติเสนอ โดยมีหลักการคือแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กยศ. พุทธศักราช 2560 เหตุผลโดยที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนผู้ที่ขาดแคนทุนทรัพย์ ให้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐพึงช่วยเหลือทุนการศึกษา สำหรับผู้ขาดแคนทุนทรัพย์สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่ปลอดดอกเบี้ย และลดภาระการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงิน มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปลดภาระหนี้ผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันจากการเป็นหนี้ มันไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
“ร่าง พ.ร.บ. กยศ. ที่พรรคประชาชาติเสนอมามีทั้งหมด 14 มาตรา เนื้อหามีความแตกต่างกับร่างของคณะรัฐมนตรีอยู่บางประเด็น ในมาตรา 44 เห็นว่าสร้างความเดือดร้อนต่อนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว และที่กำลังจะจบการศึกษาในอนาคต จึงได้แก้ไขให้ยกเลิกทั้งมาตรา โดยเสนอใหม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ จากเดิม 15 ปี เป็น 30 ปี ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาก็คือดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เด็กนราธิวาสฐานะไม่ใช่จะดีทุกคน นักศึกษาเรียนจบมารับปริญญาที่กรุงเทพ พ่อแม่ดีใจที่จบการศึกษา แต่หอบหนี้กลับไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อถึงเวลา กยศ.แจ้งให้ชำระหนี้ บวกดอกเบี้ย บวกเบี้ยปรับ มีเคสหนึ่งกู้เงินต้นเพียง 300,000 กว่าบาท แต่อยู่ดีๆมีหนังสือจากสำนักงานทนายความทวงดอกเบี้ย 74,700 บาท เบี้ยปรับ 496,000 กว่าบาท รวมทั้งหมด 900,000 กว่าบาท! เขากู้เงินเรียนเพราะเขายากจน แต่ปรากฎว่าเรียนจบแล้วไม่มีงานทำงาน ต้องจ่ายหนี้ 900,000 กว่าบาท”
“พรรคประชาชาติเรามองเห็นว่าดอกเบี้ยและเบี้ยปรับคือตัวปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่จบสิ้น ในมาตรา 44 ของร่างกฎหมาย กยศ.ฉบับพรรคประชาชาติ คือให้ปลอดดอกเบี้ยและประโยชน์อื่นใด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ประชาชนให้ได้รับการศึกษา ไม่ใช่ให้ กยศ.ทำตัวเป็นธนาคารเชิงพาณิชย์ เรียกดอกเบี้ยจากคนจน”
“ศาสนาอิสลามได้บอกหลักการนี้ไว้มานานนับพันปีแล้วในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อิสลามห้ามยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย เพราะการคิดดอกเบี้ยคือการอยุติธรรมต่อผู้ลำบาก ถ้าเขามีเงินเขาคงไม่กู้ เพราะเขาไม่มีเงินเขาถึงกู้ แล้วรัฐยังจะคิดดอกเบี้ยจากประชาชนอีก สุดท้ายโดนยึดทรัพย์เดือดร้อนกันทั้งบ้าน”
“หาก พ.ร.บ. กยศ.ฉบับนี้ผ่านสภาฯแล้ว หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ยังอยู่ในมาตรา 44 ให้มีผลต่อผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ขยายระยะเวลาใหม่ ส่วนคนที่ถูกยึดทรัพย์บังคับคดี สามารถปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้”
“พรรคประชาชาติเรามีแนวคิดต้องแปลงหนี้ กยศ.เป็นทุนการศึกษาแทน หมายความว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมสามารถแปลงคะแนนการเรียนเป็นทุนการศึกษา หรือนักศึกษาอื่นที่คณะกรรมการได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ โดยไม่จำเป็นต้องจบเกียรตินิยม แต่สามารถแปลงหนี้ กยศ. เป็นการให้ทุนการศึกษา”
“หนี้ กยศ.ปัจจุบันเป็นหนี้บุริมสิทธิ คือถ้าเรียนจบแล้วไปทำงานที่บริษัทเอกชนถือเป็นหนี้บุริมสิทธิ มีสิทธิเหนือหนี้อื่นๆ สามารถให้นายจ้างหักค่าจ้างได้เลย ซึ่งพรรคประชาชาติเราเห็นว่า หนี้ กยศ. ไม่สมควรเป็นหนี้บุริมสิทธิ เพราะภาระของแต่ละคนต่างกัน บางคนอาจมีพ่อแม่เป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องดูแลครอบครัว นายจ้างก็ไม่สมควรหักเงินเดือนของนักศึกษาที่จบใหม่ โดยไม่เห็นความเดือดร้อนของคนที่จบใหม่”
“เชื่อว่าร่างกฎหมาย พ.ร.บ. กยศ. ของพรรคประชาชาติโดยเฉพาะการขยายระยะเวลาชำระหนี้ การปลอดดอกเบี้ย และการปลอดเบี้ยปรับ มีความสำคัญอย่างยิ่ง หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาและแก้ไขนำไปสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป ขอฝากไปยังคณะกรรมาธิการว่าอย่าร่างกฎหมายเพื่อเอาใจฝ่ายบริหาร หรือประโยชน์ของ กยศ.เป็นหลัก แต่ต้องร่างกฏหมายเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง”
ภาพ/ข่าว อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา