สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7
1 min readสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 7 “Towards the Sustainable Gem Industry Beyond 2022” ดึงกูรูในวงการอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกร่วมชี้แนวทางอนาคต หวังกระตุ้นยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ หลังสัญญาณส่งออกอัญมณีไทยพุ่งสูงเกือบ 27%
วันนี้ (2 ก.พ.65) ที่ห้องแกรนด์บอลรูมโรงแรมมณีจันทร์รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 (GIT 2021) และงานประชุมด้านพลอยสี (Corundum Symposium) ผ่านระบบออนไลน์ Video Conference เพื่อสร้างเวทีในการนำเสนอองค์ความรู้ เผยแพร่ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงด้านการตลาด ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป
โดยมีนายสุพจน์ ภูมิเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT ร่วมในพิธี โดยนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆ แม้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะมีมูลค่าส่งออกลดลงถึงร้อยละ 40 ในปี 2563 แต่ตลอดปี 2564 พบสัญญาณบวกเรื่อยมา นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่การส่งออกสินค้านี้ปรับเพิ่มขึ้นโดยตลอด ส่งผลให้สถิติรอบปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรวมทองคำพุ่งสูงขึ้นถึง 6,158.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวเพิ่มถึงร้อยละ 26.94 และคาดว่าแนวโน้มในปี 2565 การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะยังคงดีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 (The 7th International Gem & Jewelry Conference” หรือ GIT 2021) และงานประชุมด้านพลอยสี (Corundum Symposium) ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ซึ่งมีส่วนในการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ และเป็นแรงผลักดันสำคัญให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายในการส่งออกที่ในวิถีความปกติใหม่ หรือในยุค Next Normal
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Towards the Sustainable Gem Industry Beyond 2022” เพื่อกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายของโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน งานประชุมครั้งนี้จึงจัดในรูปแบบ Hybrid เป็นการผสมผสานระหว่าง การจัดงาน Onsite ณ โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี และการเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบ Virtual Conference โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกกว่า 150 รายเข้าร่วมประชุม และมีวิทยากรผู้มีชื่อเสียงระดับโลกร่วมบรรยายและอัพเดทเทรนด์ต่างๆ ในปัจจุบัน จำนวน 16 เรื่อง อีกทั้งสถาบันยังจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิชาการจากทั่วโลกอีกกว่า 70 เรื่อง อาทิ เทรนด์อุตสาหกรรรมอัญมณีและเครื่องประดับในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน
(Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม การศึกษาระบบสำแดงและการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีโดยใช้เทคโนโลยี Block chain ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโลก ที่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก และผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงพลอยสวยน้ำงาม และมีคุณภาพสูงที่ได้รับรางวัลจากการประกวด “GIT’s Enchanting Ruby & Sapphire Award” ภายในงานด้วย
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา จ.จันทบุรี
พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก