อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

นักวิชาการกฎหมาย มรภ.ศรีสะเกษ เผย ข้อแตกต่างระหว่าง ฌาปนกิจสงเคราะห์ กับ ประกันชีวิต แนะแยกให้ออกป้องกันการสับสน

1 min read

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 ผศ.วระเดช ภาวัตเวคิน อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) เปิดเผยว่า กรณีข้อแตกต่างระหว่าง ฌาปนกิจสงเคราะห์ กับ ประกันชีวิต มีรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งการฌาปนกิจสงเคราะห์ ตามพ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 หมายถึง “กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน” ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการประกันชีวิต ที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้สรุปคำจำกัดความไว้ว่า ประกันชีวิต หมายถึง “การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากความตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือชราภาพ โดยบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต” จะเห็นความแตกต่างกันในบางประการ

โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545, ข้อบังคับสมาคมฯ รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโดยสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโดยหน่วยงานของรัฐ หรือจัดตั้งโดยเอกชน รูปแบบการดำเนินการของฌาปนกิจสงเคราะห์ จะได้รับเงินสงเคราะห์ เมื่อเสียชีวิตเท่านั้น โดยจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ การจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ จะจ่ายเป็นรายเดือน หรือรายปี ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ส่วนเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ นำมาลดหย่อนภาษีไม่ได้ ฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นการดำเนินการรูปแบบที่ไม่แสวงหากำไร แต่เป็นการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ
ส่วนกรณีการทำประกันชีวิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยประกันชีวิต และพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รวมทั้งกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโดยบริษัทจำกัดมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ รูปแบบการการเนินการของประกันชีวิตมีหลายรูปแบบ เช่น การประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุ การประกันสุขภาพ การประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ การประกันชีวิตแบบบำนาญ การประกันชีวิตแบบลงทุน เป็นต้น การจ่ายเงินประกันชีวิต จะจ่ายในรูปแบบ เบี้ยประกัน ทั้งนี้ อยู่ที่ทุนทรัพย์ที่เอาประกันชีวิต ถ้าทุนทรัพย์ที่เอาประกันชีวิตมาก เบี้ยประกันภัยก็สูงไปด้วย และในส่วนของเบี้ยประกัน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งประกันชีวิต เป็นการดำเนินการเพื่อแสวงหากำไร
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของฌาปนกิจสงเคราะห์นั้นดำเนินการภายใต้กฎหมายที่แตกต่างจากการประกันชีวิต โดยดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับ หากดำเนินการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมชอบด้วยกฎหมาย.

ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.