ศรีสะเกษ นายทะเบียนกลาง ขีดเส้น 90 วัน เคลียร์เงินผีให้จบ
1 min readจากกรณีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สชสท.) รวมตัวกันกว่า 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมไปยัง นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กรณีทางสมาคมฯ จ่ายเงินสงเคราะห์ล่าช้า และค้างจ่ายกว่า 175 ล้านบาท เรียกร้องให้ตรวจสอบการบริหารงานและเส้นทางการเงินภายในสมาคมฯ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสสุจริต ขณะที่ ดร.สามัคคี เดชกล้า นายก สชสท. ได้ออกมาชี้แจงยอมรับจ่ายเงินล่าช้าจริง อ้างเหตุมีคนตายเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า
ต่อมา นายวัฒนพล อนุพันธ์ นายก อบต.ตาเกษ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีละเกษ ในฐานะนายทะเบียนประจำท้องที่ ได้ลงนามในหนังสือสั่งการให้ นายก สชสท.พร้อมคณะกรรมการ หรือกรรมการยกชุด หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 ก.พ.2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สชสท.) ต.ตาเกษ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นางกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผอ.กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะนายทะเบียนกลาง เปิดเผยว่า การฌาปนกิจสงเคราะห์เป็นการเก็บเงินสงเคราะห์ตามจำนวนของสมาชิกที่เสียชีวิต โดยตามข้อบังคับของสมาคมฯ ระบุว่าเก็บรายละ 20 บาท แต่ปรากฏว่าอัตราจำนวนผู้เสียชีวิตมีจำนวนสูงกว่า 900 ราย หากเก็บเงินกับสมาชิกรายละ 20 บาท สมาชิกก็จะต้องส่งเงินสงเคราะห์เข้าสมาคม จำนวนสูงถึงรายละกว่า 18,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน สมาคมฯเก็บกับสมาชิกเพียงปีละ 5,000 บาท ถึงแม้จะเก็บน้อยกว่าเพื่อไม่ให้สมาชิกกระทบ แต่เป็นการดำเนินงานที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่สามารถระบุได้ว่า จะได้รับเงินสงเคราะห์รายละเท่าไหร่ และจะหักเงินสงเคราะห์ของผู้เสียชีวิตล่วงหน้าไม่ได้ เป็นการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง ทำไม่ได้ ซึ่งปรากฏว่าทางสมาคมฯได้กำหนดจำนวนเงินสงเคราะห์ที่จะได้รับเมื่อเสียชีวิตแล้ว เป็นการดำเนินการที่ขัดกับ พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 ที่กำหนดว่าเราไม่สามารถให้คำยืนยันได้ว่าต้องจ่ายเงินสงเคราะห์เท่าไหร่ เพราะสมาคมต้องเก็บเงินสงเคราะห์มาก่อน พร้อมหัก 3 เปอร์เซ็น เป็นค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ ตามกฎหมาย ซึ่งในฐานะนายทะเบียนกลาง ได้ว่ากล่าวตักเตือน พร้อมจะดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย และจะเปิดให้คณะกรรมการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใน 90 วัน จากนั้นจะมีการประชุมใหญ่สมาชิก ซึ่งจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน