มทร.อีสาน ขานรับ อว. พร้อมเป็นฮับโลจิสติกส์ให้ภาคอีสาน
1 min read
วันที่ 5 มีนาคม 2565 นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ นายกสภา มทร.อีสาน รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโอกาสประชุมรับฟังสรุปการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการระบบรางและอุตสาหกรรมการบิน ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน นครราชสีมา
มทร.อีสาน ได้เริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ตั้งแต่ปี 2558 โดยได้ทำความร่วมมือกับ 9 มทร. รองรับ Mega Project ด้านระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งหลังจากนั้น มทร.อีสาน ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้อย่างเต็มกำลัง โดยในด้านการสร้างนวัตกรรมด้านระบบราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น รับหน้าที่ขับเคลื่อนภายใต้ชื่อโครงการ “ร้อยแก่นสารสินธุ์ เมืองนวัตกรรมระบบราง” ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมระบบรางร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในเขต 4 จังหวัดอีสานตอนบน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน ศูนย์กลางนครราชสีมา ที่ขับเคลื่อนการวิจัยด้านระบบรางและโครงสร้างพื้นฐานในเขตอีสานใต้ ในส่วนของการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านโลจิสติกส์และการขนส่งนั้น ได้จัดตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบ ได้แก่ สถาบันระบบรางแห่ง มทร.อีสาน และสถาบันอุตสาหกรรมการบินแห่ง มทร.อีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2560
ปัจจุบัน มทร.อีสาน มีการจัดการเรียนการสอนด้านระบบรางใน 4 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่ กลุ่มวิศวกรรม กลุ่มบริการจัดการ กลุ่มสถาปัตยกรรมและผังเมือง และกลุ่มโลจิสติกส์ ผนวกกับทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาอาจารย์เพื่อเป็น Trainer ในด้านระบบรางโดยตรงทั้งจากการอบรมภายในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีบุคลากรที่พร้อมเป็น Trainer มากกว่า 100 คน พร้อมทั้งมีครุภัณฑ์และสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่ครบครัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการด้านระบบรางมา มทร.อีสาน ได้จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบ Non-Degree แก่ผู้สนใจไปแล้วมากกว่า 6,000 คน สำหรับการพัฒนาหลักสูตรแบบ Degree ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ด้านระบบขนส่งทางรางเปิดสอนใน 3 วิทยาเขต ได้แก่ มทร.อีสาน ศูนย์กลางนครราชสีมา ณ สถาบันระบบรางฯ จำนวน 5 หลักสูตร และวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ จำนวน 2 หลักสูตร วิทยาเขตขอนแก่น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 3 หลักสูตร และวิทยาเขตสกลนคร คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจำนวน 1 หลักสูตร มีกำลังการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมเครื่องกลรางและการซ่อมบำรุงรักษาตัวรถ ประมาณ 120 คน/ปี ด้านไฟฟ้าราง ประมาณ 150 คน/ปี ด้านวิศวกรรมโยธาและซ่อมสร้างทาง ประมาณ 90 คน/ปี ด้านการจัดการเดินรถและสถานี ประมาณ 60 คน/ปี ด้านการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ประมาณ 60 คน/ปี โดยจุดเด่นของนักศึกษาด้านช่างระบบรางของ มทร.อีสาน คือ นักศึกษาทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) สาขางานซ่อมบำรุง อาชีพช่างเทคนิคซ่อมบำรุงทางรถไฟ ชั้น 3 และ 4 ไปด้วย เนื่องจาก มทร.อีสาน มีศูนย์อบรมและสอบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพสาขางานซ่อมบำรุง อาชีพช่างเทคนิคซ่อมบำรุงทางรถไฟ ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยนวัตกรรมวิชาชีพ มทร.อีสาน นครราชสีมา โดยศูนย์สอบคุณวุฒินี้ได้ผ่านการรับรองให้จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 3 ของประเทศไทย
สำหรับด้านอุตสาหกรรมการบิน มทร.อีสาน มุ่งผลิตช่างภาคพื้นดิน (Aircraft Maintainace) สาขาวิชาช่างเครื่องบินและสาขาวิชาช่างเอวิโอนิกส์ และบุคลากรด้านการจัดการธุรกิจการบิน (Aviation Business Management) ที่มีความรู้ในด้านโลจิสติกส์การบิน การจัดการจราจรทางอากาศ การจัดการท่าอากาศยาน และการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยได้พัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินทั้งการส่งไปอบรมและไปร่วมดำเยินงานกับสถานประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรด้านช่างการบินตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) และกำลังดำเนินการขอรับรองสถาบันและรับรองหลักสูตรการฝึกอบรมด้านการบิน สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินสู่ภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 150 คน/ปี อีกทั้ง มทร.อีสาน ยังได้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอุตสาหกรรมการบิน ณ มทร.อีสาน ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอุตสาหกรรมการบินที่ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ มทร.อีสาน ยังได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาขับเคลื่อนและประสานงานด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ ได้ทำการเปิดสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่ง (Institute of Collaborative Logistics and Transportation) อย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินงานเครือข่ายด้าน Dry Port ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อให้เป็นสถาบันที่ดำเนินงานขับเคลื่อนด้าน Dry Port ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งเป็นสถาบันที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการและสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนให้เข้าใจถึงความสำคัญและผลประโยชน์ของการจัดตั้ง Dry Port นครราชสีมา ทั้งนี้เนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโลยีราชมงคลอีสานมีความพร้อมทั้งด้านระบบราง อากาศยาน และมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมในทุกคณะของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านบริหาร วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาประสบความสำเร็จในการเป็นท่าเรือบกภาคอีสานพร้อมเป็นประตูสู่ทางเชื่อม ไทย ลาว จีน ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป