ร้อยเอ็ด “สินิตย์” รมช.พาณิชย์ นำทัพกระทรวงพาณิชย์รุกร้อยเอ็ด ประกาศดันสินค้าอินทรีย์ข้าวหอมมะลิและชาใบข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วยเกษตรและผู้ประกอบการ ขยายการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จาก FTA
1 min read ร้อยเอ็ด “สินิตย์” รมช.พาณิชย์ นำทัพกระทรวงพาณิชย์รุกร้อยเอ็ด ประกาศดันสินค้าอินทรีย์ข้าวหอมมะลิและชาใบข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วยเกษตรและผู้ประกอบการ ขยายการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จาก FTA
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่ประชุมหารือกับเกษตรกรของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพ บ้านเหม้า อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการดำเนินนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้มีราคาดี ผ่านนโยบาย “การประกันรายได้เกษตรกร” ในสินค้าหลัก 5 ตัวได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผ่านนโยบาย “เกษตรกรผลิต พาณิชย์ตลาด” ในการหาตลาดรองรับสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนโยบาย “การหาตลาดใหม่” ผ่านการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA ตลอดจนเพื่อรับฟังข้อมูลและความต้องการของเกษตรกรเรื่อง สถานการณ์การผลิตและการค้าของสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว อีกทั้งการทำตลาดในประเทศและส่งออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวให้กับเกษตรกรและชุมชน โดยมีนายสนอง ดลประสิทธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ
นายสินิตย์ ฯ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีจำนวนมากในพื้นที่ ในรูปแบบของการทำเกษตรอินทรีย์การขึ้นทะเบียนรองรับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิสาสตร์ หรือ GI สินค้าข้าวหอมมะลิ การใช้นวัตกรรม งานวิจัย และเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดสินค้าข้าวในพื้นที่ เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบชาใบข้าวหอมมะลิอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี การนำข้าวมาแปรรูปทำเครื่องดื่มจมูกข้าวหอมมะลิ ใช้เป็นครีมเทียมชงในเครื่องดื่ม ซึ่งสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรในพื้นที่ นำมาสู่การเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนยังทำ OEM ผลิตสินค้าชาใบข้าวให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ และวางจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด รวมทั้งยังพัฒนาสินค้าให้ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งการผลิตและการแปรรูป คือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ GAP และ อย.จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับสินค้าที่ต้องการยกระดับสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการผลินสินค้าอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์พร้อมช่วยสนับสนุนเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการส่งออก และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีหรือ FAT เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะส่งเสริมให้ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ชาใบข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และสินค้านวัตกรรมข้าวของจังหวัดร้อยเอ็ดมีการวางจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศ และเพิ่มการจำหน่ายบนตลาดออนไลน์ ต่อไป
ภาพ/ข่าว คณิต ไชยจันทร์
รายงานจากจังหวัดร้อยเอ็ด