รมต. เกษตรฯ เร่งทุกฝ่าย หนุน ศอ.บต. ดันระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. ส่งวัตถุดิบฮาลาลสู่ตลาดโลก
1 min read
รมต. เกษตรฯ เร่งทุกฝ่าย หนุน ศอ.บต. ดันระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จชต. ส่งวัตถุดิบฮาลาลสู่ตลาดโลก ต่อยอดเจรจาการค้า-ลงทุน ร่วมกับซาอุดิอาระเบีย
วันนี้ (2 กันยายน 2565) ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลและการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยนำการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลในพื้นที่ ภายในงานมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหาร ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการและภาคประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการมีชีวิตด้านการเกษตร จชต. ที่ ศอ.บต. จัดขึ้นเพื่อนำเสนอ อาทิ นิทรรศการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพื่อการเกษตรฯ นิทรรศการเลี้ยงปูทะเลโลก นิทรรศการด้านประมง นิทรรศการอุตสาหกรรมโคเนื้อ พืชเศรษฐกิจใหม่ (ไผ่/หญ้าเนเปียร์) ทุเรียนแปลงใหญ่ 3 จชต. นิทรรศการการส่งเสริมพัฒนาอาชีพปลูกพืชร่วมยาง การแก้ไขปัญหาโรคใบยางร่วงชนิดใหม่ และอื่นๆ
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลและการขับเคลื่อนการทำงาน ในระดับพื้นที่ จชต. เพื่อเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมี เลขาธิการ ศอ.บต. นำเสนอข้อมูลการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ภายใต้ หลักการทำงานร่วมกันว่า “สินค้า อาหารและบริการฮาลาลที่ทุกคนเข้าถึงได้”
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ตลอดระยะ 2 ปีเศษ ที่ผ่านมา ศอ.บต. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สถาบันการศึกษา, ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมมือผลักดันการทำงานเชิงนโยบาย ผ่าน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รวมทั้ง มีการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คือ เมืองปศุสัตว์ชายแดนภาคใต้ มี กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานสำคัญร่วมดำเนินการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตทุกขั้นตอน ผ่านโครงการหลัก คือ “โคบาลชายแดนใต้” ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโค เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เมืองปูทะเลโลก มี กรมประมง เป็นหน่วยงานสำคัญร่วมดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงปูทะเลประเภท ปูดำ พื้นที่ชายฝั่งทะเล 10 อำเภอ ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง เมืองแห่งผลไม้ มี กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานสำคัญร่วมดำเนินการส่งเสริมการปลูกผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่พร้อมกับส่งเสริมไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจตามมติคณะรัฐมนตรี มีเป้าหมายเชื่อมโยงการผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมและการบริการตามเศรษฐกิจฐานชีวภาพต่อไป โดยมี กรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการและพัฒนาคุณภาพดิน
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า นอกจากการนี้ ศอ.บต.ยังมีการ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน มี กรมวิชาการเกษตรและการยางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานสำคัญร่วมดำเนินการ โดยเฉพาะปัญหาโรคอุบัติใหม่ในพืช เช่น โรคเหี่ยวในกล้วยหิน โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนและโรคใบเหี่ยวยางพารา ปัจจุบันสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาไปได้ด้วยดี ลดความเสียหายพื้นที่การเกษตรและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ต้องการจะพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ จชต. ซึ่งมีส่วนราชการระดับกรมและเทียบเท่า หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน รวม 21 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมที่พร้อมจะมาร่วมทำงานผ่านโครงการสำคัญในพื้นที่ที่ ศอ.บต. ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 เดือน มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนที่ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแถลงแผนปฏิบัติการและความสำเร็จในการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลในปลายเดือนตุลาคม 2565
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนา จชต. ให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” มีเป้าหมาย สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นมิติการพัฒนาที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง ใช้หลักประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่มีเศรษฐกิจที่ดี มุ่งให้ประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต สามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่ายและปลดหนี้ให้ได้ อีกทั้ง การดำเนินงานร่วมกัน มีความตั้งใจจะให้ทุกจังหวัดของชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อการบริโภคในพื้นที่และภายในประเทศ เป็น “ครัวฮาลาลของโลก” ส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลาม กว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลกให้ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ สามารถเจรจาการค้าและการลงทุน ร่วมกับประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรและอื่นๆ ที่มีฐานวัตถุดิบจากพืชผลทางการเกษตรเข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้แล้ว อีกทั้งยังมีการจัดตั้งหอการค้าไทยและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะคณะอนุกรรมการระเบียงเศรษฐกิจอาลาลฯ จะเร่งดำเนินการทำโดยเร็ว
ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยังได้เน้นย้ำทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับ “ปศุสัตว์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม” เป็นลำดับแรก ไม่ใช่ดำเนินการเสมือนปศุสัตว์สงเคราะห์เช่นที่ผ่านมา เดินหน้าสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” เพื่อสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และพื้นที่มีเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้นไป
ภาพ/ข่าว
อับดุลหาดี เจ๊ะยอ จ.ยะลา
Loading...