จันทร์. พ.ย. 25th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

สสส. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “21 ม.ค. รำลึก 1 ปี หมอกระต่าย สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”

1 min read

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “21 ม.ค. รำลึก 1 ปี หมอกระต่าย สู่วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” และ “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 12” เพื่อรำลึกถึงการสูญเสียแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่า ที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ชนขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว


โดยได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ ชวนคนไทยทุกคนช่วยกันส่งแสง ทั้งแสงเทียน แสงไฟหน้ารถ ไปจากโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชันจุดเทียน เป็นเวลา 1 นาที เพื่อรำลึกถึงหมอกระต่าย และส่งแสงเพื่อให้ประเทศไทยมีวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ตลอดจนการอ่านบทประพันธ์ร่วมไว้อาลัยโดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และบทประพันธ์ร่วมของนายแพทย์อนิรุทธิ์ สุภวัตรจริยากุล พ่อของหมอกระต่าย
ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วันที่ 21 มกราคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ได้จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ลดความเร็วรถในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน และขอให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง

นายสุรชัย กล่าวว่า การสูญเสียหมอกระต่าย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตระหนักถึงอุบัติเหตุคนข้ามถนน หลายหน่วยงานได้เข้ามาดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ปรับปรุงทางม้าลายทางกายภาพให้ดีขึ้น ทั้งการขีดเส้นทางม้าลาย และทำสีแดงให้ชัดเจนขึ้น ติดป้ายสัญญาณและไฟจราจรเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนก็มีวินัยมากขึ้น หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมากขึ้น จอดรถคร่อมทางม้าลายน้อยลง แม้ว่าจะยังมีประชาชนฝ่าฝืนอยู่บ้าง แต่ก็ลดน้อยลง และเชื่อว่าอนาคตจะต้องดีขึ้น จึงอยากบอกหมอกระต่ายว่า ความสูญเสียของหมอกระต่าย ไม่ได้เปล่าประโยชน์ แต่หมอกระต่ายคือผู้จุดประกายให้สังคมไทย หันมามองเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น และแปรเปลี่ยนเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคม ให้สังคมปลูกจิตสำนึกมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้ถนนประเทศไทยปลอดภัย

ส่วนกรณีไรเดอร์ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน ก็ได้ประสานผู้ให้บริการไรเดอร์ รณรงค์ให้ไรเดอร์ในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมาย และรถจักรยานยนต์ของไรเดอร์ต้องต่อภาษีประจำปี และต้องมีประกัน พ.ร.บ.
ด้านพ่อของหมอกระต่าย กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า 1 ปีที่ผ่านมายังคงโศกเศร้ากับจากการสูญเสียลูกสาว แม้จะพยายามปรับตัว ทำงาน และทำประโยชน์ให้สัมคม แต่เมื่อปีใหม่นี้ไม่มีลูกสาวแล้ว ก็เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้หมด แต่การสูญเสียนั้น ก็ทำให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นต่อสังคม โดยเฉพาะเรื่องกายภาพของทางม้าลาย มีการทำสีให้ชัดเจน มีสัญญาณจราจร มีป้ายบอกความเร็ว เพื่อย้ำเตือนผู้ใช้รถใช้ถนน แม้ต่อมากระแสจะซาลงไปก็ตาม ดังนั้นจึงต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่จัดงานรณรงค์ในครั้งนี้ เพื่อให้การรณรงค์ยั่งยืนขึ้น และขอบคุณมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้วันที่ 21 มกราคมเป็นวันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน แต่จริงๆ แล้ว วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนควรมีในทุกวัน
ทั้งนี้หลังจากนี้อยากให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนมาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกันและเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลสมัยหน้าที่จะเข้ามาดูแลประเทศ

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้ล้างทำความสะอาดทางม้าลายไปแล้ว 421 แห่ง ทาสีแดง 145 แห่ง ปรับปรุงทางม้าลายที่ซีดจาง 1,000 แห่ง จากทั้งสิ้น 2,794 แห่ง และในปีนี้จะล้างทางม้าลายเพิ่มอีก 500 แห่ง ทาสีแดงเพิ่ม 210 แห่ง และปรับปรุงทางม้าลายอีก 500 แห่ง / ส่วนสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม ติดตั้งไปแล้ว 85 แห่ง / และสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้ามติดตั้งไปแล้ว 50 แห่ง โดยเตรียมติดเพิ่มในปีนี้อีก 50 แห่ง / นอกจากนี้ยังเตรียมติดดวงไฟเพิ่มอีก 25,000 ดวงทั่วกรุงเทพมหานคร และกวดขันการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น
ด้านนายปฐวี กนิษฐายน ประชาชนที่ใช้วีลแชร์ข้ามทางม้าลายเป็นประจำ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุหมอกระต่าย และมีการปรับปรุงทางม้าลาย ปลูกจิตสำนึกประชาชน การข้ามทางม้าลายก็รู้สึกปลอดภัยขึ้น ผู้ใช้รถหยุดรถให้คนข้ามมากขึ้น มีเพียงส่วนน้อยประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่หยุด แต่ก็ถึงว่าดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ใช้วีลแชร์ ก็อยากให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงถนนทั้งฟุตบาท และทางข้าม ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้วีลแชร์ให้มากขึ้นด้วย เพราะฟุตบาทบางจุดเป็นทางลาดชัน วีลแชร์ไม่สามารถขึ้นได้ ก็ต้องไปใช้พื้นที่บนถนนซึ่งอันตราย และทางม้าลายบางจุดมีตอม่อตรงเกาะกลาง ทำให้ไม่สะดวกต่อผู้ใช้วีลแชร์เช่นกัน

สำหรับสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า 10 ปีที่ผ่านมามีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ย 1,000 รายต่อปี และเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากรถจักรยานยนต์ และสถิติจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด พบว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นคนเดินเท้าในปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ หรือลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ 81 ชีวิต

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.