“บิ๊กโจ๊ก” ร่วมอภิปรายเรื่องความก้าวหน้าในการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย
1 min readเมื่อวันที่ 13 ก.พ.66 เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ความก้าวหน้าการดำเนินงานขจัดความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับชาติเพื่อทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคอาเซียน พ.ศ.2559-2568 ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารแกรนด์พาลาซโซ่ โรงแรมเดอะพาลาซโซ่ โดยมีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งภายในการอภิปรายได้มีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิเช่น นางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน, นายชนะ สุ่มมาตย์ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ, นพ.ฑิณกร โนรี รอง ผอ.กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และ น.ส.โชติมา สุรฤทธิธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนเด็ก กระทรวงยุติธรรม
ภายในการอภิปราย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเสนอผลการปฏิบัติในด้านการบังคับใช้กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) โดยมีชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในการดำเนินการจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตในปี 65 สามารถจับกุมได้ทั้งหมด 482 คดี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 64 ถึง 403 คดี และยังมีการขยายผลเป็นคดีค้ามนุษย์จำนวน 41 คดี ถือเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังได้นำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคอาเซียนในหลายๆด้านตามตัวชี้วัดที่กำหนด อาทิเช่น
ด้านการป้องกัน ได้จัดทำโครงการ DARE 2 CARE ซึ่งอบรมความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เข้าใจวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องกับเด็กในกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งในปี 65 ได้อบรมไปแล้วมากกว่า 14,660 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ทั้งแบบรูปเล่มและออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหาย ได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการรับแจ้งเหตุทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้สร้างช่องทางติดต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถบูรณาการ่วมกันได้ และยังได้นำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) เพื่อนำมาขับเคลื่อนการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้มีการเพิ่มความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศสำหรับตนเอง และเพิ่มบทเพิ่มโทษกรณีมีไว้เพื่อประสงค์การค้า รวมทั้งยังได้แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเพิ่มความครอบคลุมถึงคุ้มครองสิทธิของกลุ่มเปราะบาง ชนกลุ่มน้อย คนต่างด้าว ให้มีสิทธิรับประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้กระทำผิดมูลฐานคดีค้ามนุษย์ด้วย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมการอภิปรายในวันนี้ ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในภูมิภาคอาเซียนในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดโดยครบถ้วน โดยนอกจากผลการปฏิบัติในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งชุดปฏิบัติการ TICAC ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จับกุมความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตจำนวนมากขึ้นกว่าปี 64 หลายเท่าตัวแล้วนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ดำเนินการพัฒนาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ เพื่อให้มีความเข้าใจวิธีการปฏิบัติต่อเด็กในกระบวนยุติธรรมอย่างถูกต้อง รวมทั้งสร้างช่องทางในการแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ให้กับผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีการนำกลไกการส่งต่อระดับชาติมาขับเคลื่อนการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผลักดันการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินคดีผู้กระทำผิดให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น ความผิดในการครอบครองสื่อลามก เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขให้ผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์สามารถรับประโยชน์จากทรัพย์สินของกลุ่มผู้กระทำผิดอีกด้วย ความคืบหน้าเหล่านี้ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมนานาชาติในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน