ชาวปทุมธานีค้านหนัก Feeder รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีรังสิต ของ สนข.
1 min readเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมมังกรทอง ชั้น11 อาคารสำนักงานเทศบาลนครรังสิต สำนักงานขนส่งจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ หน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีรถไฟรังสิต มีผู้เข้าร่วมงานและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยมี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราซการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดงาน เริ่มต้นด้วยการนำเสนอแนวทางการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีรถไฟรังสิต ทั้ง 3 เส้นทาง โดยนายนราชัย ตันติวรวิทย์ จากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ต่อมาเป็นช่วงของการเสวนา “การจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า” โดยมี พล.ต.ท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปณิตา สงวนทรัพย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวินี เอี่ยมตระกูล หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง และ นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ กรรมการ บริษัท ธัญบุรีขนส่ง จำกัด นายชั้น รักสูงเนิน ผู้แทนภาคประชาชน ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการ และหลังจากช่วงเสวนาก็ช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ทั้งนี้ในเส้นทางสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-ธัญบุรี คลอง 7 (ถนนรังสิต-นครนายก) จะมีการจัดทำระบบนำส่งผู้โดยสาร (Feeder) ในรูปแบบ Bus Rapid Transit (BRT) ที่มีการกันช่องทางการเดินรถบนถนนมาเป็น Bus lane เพื่อให้รถโดยสาร BRT ทำการเดินรถแบบย้อนศร (Reversible) ในชั่วโมงเร่งด่วน การประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน และมีผู้แสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากวิทยากรบนเวทีเสวนาและจากผู้ที่เข้าร่วมการประชุมหลังจากที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวินี เอี่ยมตระกูล หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง ได้พูดถึงหลักการเกี่ยวกับระบบนำส่งผู้โดยสาร
นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ กรรมการ บริษัท ธัญบุรีขนส่ง จำกัด ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสารเพราะพื้นที่สร้างป้ายรอรถโดยสาร BRT ค่อนข้างจำกัด ไม่สามารถป้องกันผู้โดยสารที่ยืนรอเวลารถเสียหลัก และถนนเส้นดังกล่าวในช่วงคลอง 4 – 7 มีช่องจราจรเพียง 3 ช่องจราจรเท่านั้น ซึ่งการปิดช่องจราจรเพื่อให้ BRT ใช้เดินรถจะทำให้เหลือช่องจราจรแค่ 2 ช่อง และจะทำให้รถติดขัดมากขึ้น
นายชั้น รักษ์สูงเนิน ผู้แทนภาคประชาชน แสดงความเห็นว่า โครงการนี้ไม่น่าจะได้ผลเนื่องจากโครงการที่จะทำเลนพิเศษบนถนนจะไปเบียดเบียนพื้นผิวการจราจรแล้วรถยนต์มีแต่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน เว้นเสียแต่ว่าจะไม่ลดช่องทางการจราจร
พล.ต.ท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เนื่องจากผิวการจราจรเดิมก็มีจำกัดอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาก็ต้องเป็นระบบรางโมโนเรล ซึ่งไม่รบกวนพื้นผิวจราจร และทาง อบจ. ก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดปทุมธานี ในวันนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายปกรณ์พัฒน์ เทพเอื้อตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมการค้าธุรกิจท่องเที่ยวปทุมธานี ได้แสดงความไม่เห็นด้วยว่า โครงการรถโดยสาร BRT จะทำให้เสีย
พื้นผิวการจราจรและทำให้รถติดมากกว่าเดิม และ อบจ. ก็มีโครงการที่จะทำโมโนเรลอยู่แล้ว ถ้าทำโครงการนี้แล้ว ต่อไปจะทำโมโนเรลก็จะต้องใช้งบประมาณในการรื้อโครงการนี้ออก นอกจากนี้ผมอยากให้มีการสร้างสะพานข้ามจุดที่เป็นทางร่วมทางแยก ซึ่งจะใช้เป็นจุดกลับรถได้ด้วย(สะพานบก)
นายฉัตรชัย ภู่อารีย์ ประธานเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารรถสาธารณะ แสดงความเห็นว่าถนนไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับ BRT และการนำรถ BRT เข้ามาให้บริการนั้นเป็นการริดรอนสิทธิ์ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ BRT สร้างปัญหาให้กับคนจำนวนมากที่ใช้เส้นทางดังกล่าว
นายสายัณห์ ดีเลิศ ตัวแทนเครือข่ายคนพิการจังหวัดปทุมธานี ได้แสดงความเห็น
ว่าการไปขึ้นรถ BRT ต้องข้ามสะพานลอยไป แต่ยังไม่มีลิฟท์ให้คนพิการที่ต้องนั่งรถเข็น และไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นสะพานลอยด้วย รวมถึงยังไม่มีช่องทางเดินที่เหมาะสมกับผู้พิการทางการเห็นและคนหูหนวก โครงการนี้มองแล้วก็ยังไม่เหมาะ จะสร้างอะไรสำหรับคนกลุ่มใหญ่ของสังคมอยากให้เอาคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคมเป็นตัวตั้ง ถ้าคนที่อ่อนแอที่สุดของสังคมสามารถใช้ได้ทุกคนทุกกลุ่มของสังคมก็ใช้ได้เช่นกัน
นายภัสพลร์ ชัยสุริยาทวิกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี
แสดงความเห็นด้วยกับรถไฟฟ้าโมโนเรล แต่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรถโดยสาร BRTและอยากให้มีการสร้างสะพานบกด้วย
พ.ต.ท.สุรชา โคตรวงษ์ทอง สวป.สภ.คูคต ให้ความเห็นว่าผมอยู่ปทุมธานีมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้การจราจรติดหนักมาก แค่ทำท่อประปาบนถนนรถก็ติดมากแล้ว และถ้าจะใช้เลนตรงเกาะกลางมันคงจะเป็นไปได้ยากมาก ผมคนหนึ่งจะคัดค้านถึงจะใช้เลนให้วิ่งสวนในชั่วโมงเร่งด่วนก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะทั้งชั่วโมงเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน รถมันติดเหมือนกันทั้ง 2 ฝั่ง ขาเข้า-ขาออก รถติดเท่ากัน
ว่าที่ ร.ต.สมพร ภูวดลไพศาล ปลัดเทศบาลตำบลลำลูกกา ขอแสดงความเห็นในฐานะชาวบ้านผู้ใช้ถนนบริเวณคลอง 2 ธัญญะ กล่าวว่าแค่ซ่อมท่อประปารถก็ติดยาว ถ้าทำ Bus lane จะทำให้รถติดเพิ่มขึ้น และเห็นว่าโมโนเรลจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหา นอกจากนี้โครงการ BRT ในกรุงเทพยังไม่ได้ผลเลย
ผศ.ดร.อนันต์ ธรรมชาลัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบ Feeder นี้ เนื่องจากเรามีทางเลือกอื่นอีกหลายทางและเห็นด้วยแนวทางจัดทำระบบโมโนเรล ของ อบจ.และยังได้เสนอระบบการจราจรทางน้ำและการขยายถนนอีกฝั่งคลองของถนนรังสิต-นครนายก ซึ่งในส่วนของการใช้เรือโดยสาร นายก อบจ.ได้ให้ความเห็นว่าอาจจะไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมนัก เพราะจะต้องทำเขื่อนตลอดแนวเพื่อป้องกันตลิ่งพัง
นายกเทศบาลตำบลบางพูน แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบ Feeder เส้นทาง เลียบคลองเปรมประชากร โดยวันนี้มีประชาชนมาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก การประชุมนี้ก็จัดแบบมุบมิบ ผมเพิ่งรู้เมื่อวานนี้เอง
รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปิดท้ายการประชุมว่า ธรรมศาสตร์ก็อยากให้เกิดเวทีแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ และยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นสื่อกลางในทุกๆกระบวนการของการรับฟังความคิดเห็นของทุกท่าน ทางธรรมศาสตร์จะจัดสรุป และขออนุญาตฝากในเพจของเทศบาลนครรังสิต และ อบจ.และพวกเราก็จะได้ Feedback ไปทางผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม / รายงาน