ชาวบ้านแห่ตกปลาสีกุน พบครั้งแรกไหลจากทะเลเข้าปากอ่าวท่าจีน
1 min readหลังจากที่วันนี้ (08 มกราคม 2563) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ว่ามีปลาสีกุนหรือปลาสีกุนข้างเหลืองว่าน้ำเข้ามาบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นตอนเช้าถึงช่วงประมาณบ่าย 2 โมง ยิ่งถ้าตอนไหนน้ำสะอาดจนเห็นตัวปลา ก็จะเป็นช่วงที่มีปลาจำนวนมากว่ายเข้ามาบริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลราวๆ 2 กิโลเมตร
โดยบรรยากาศที่บริเวณจุดชมวิวท่าฉลอม ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่พบปลาว่ายเข้ามานั้น ก็พบว่ามีชาวบ้านเกือบ 50 คน นำเบ็ดมาตกปลาสีกุนกันเกือบทั้งวัน บางคนก็มาคนเดียว บางคนก็มาพร้อมกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านบอกว่า เหตุการณ์ที่ปลาสีกุนว่ายน้ำเข้ามาถึงข้างในบริเวณปากอ่าวท่าจีนนี้ เป็นมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว พอชาวบ้านรู้ก็พากันนำเบ็ดมาตก โดยใช้เนื้อกุ้งเป็นเหยื่อ ซึ่งก็ตกได้เรื่อยๆ แต่ถ้าตกตั้งแต่เช้าจนบ่ายก็จะได้ปลาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ส่วนปลาที่ได้นั้นก็จะนำไปให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ทำอาหารทานกัน ไม่ได้เอาไปขาย ซึ่งปลาสีกุนที่ตกได้นี้ทั้งสดและตัวใหญ่เนื้อแน่นอร่อยมาก
นอกจากนี้ชาวบ้านยังบอกอีกว่า สถานการณ์ที่ปลาสีกุนว่ายน้ำจากทะเลไหลเข้ามาในปากอ่าวท่าจีนนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย ปีนี้เป็นปีแรกและมีเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุจะมาจากอะไรพวกตนก็ไม่แน่ใจ แต่เท่าที่สังเกตกันก็สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากสภาพน้ำทะเลที่ดีขึ้น พอเวลาน้ำทะเลไหลขึ้นมาก็จะมีปลาไหลตามเข้ามาด้วย แต่พอถึงตอนบ่ายน้ำทะเลลด แล้วมีน้ำเสียจากด้านบนของแม่น้ำท่าจีนไหลตามลงมา พวกปลาสีกุนก็จะไหลตามน้ำทะเลกลับไปด้วย อีกทั้งน่าจะมาจากการทำปะการังเทียมที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำท่าจีน หรือปากอ่าวมหาชัยนั้น ก็ช่วยทำให้มีปลาและสัตว์ทะเลเพิ่มมากขึ้นด้วย ประกอบกับพอมีดินเลนมากขึ้น เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง มีคลื่นลมแรงในช่วงฤดูนี้ ก็อาจทำให้ปลาเมาเลน เลยว่ายน้ำเข้ามาในฝั่งก็เป็นไปได้ โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์เช่นนี้น่าจะมีไปจนกว่าจะหมดช่วงลมทะเลพัดแรง หรือในช่วงปลายเดือนนี้ก็เป็นไปได้
สำหรับปลาสีกุนข้างเหลืองนั้น เป็นปลาทะเลในกลุ่มของปลาสีกุนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ได้มุ่งจับเพื่อการค้าโดยเฉพาะ แต่เป็นปลาที่จับมาได้จากการจับปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่น ทั้งนี้ในปัจจุบัน ปลาในกลุ่มปลาสีกุนเริ่มนิยมนำรับประทาน และจับเพื่อการค้ามากขึ้น และมีการเพาะเลี้ยงบ้าง สามารถจับได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน มีลักษณะลำตัวแบน และค่อนข้างเรียวยาว ลำตัวมีส่วนโค้งทางด้านหลัง และด้านท้องเท่ากัน มีตาโต ปากขนาดเล็ก คอดหางยาวมีลักษณะเด่นที่มีแถบสีเหลืองเป็นแนวยาวจากเหนือส่วนตาถึงโคนหาง และมีจุดดำเหนือครีบหูบริเวณบริเวณขอบแก้มด้านบน รวมถึงมีเส้นข้างลำตัวโค้งตามแนวสันหลัง และเป็นเส้นตรงบริเวณตอนกลางของครีบหลังอันที่สอง ส่วนครีบ มีครีบหูยาวเรียว และมีปลายครีบแหลม ครีบหลัง และครีบก้นค่อนข้างยาว ครีบหลังมี 2 อัน ครีบอันท้ายยาวติดกันถึงโคนหาง และครีบก้นยาวติดกันถึงโคนหางเช่นกัน ครีบทุกอันมีสีขาวใส ปลาสีกุนข้างเหลืองที่พบโดยทั่วไปมีขนาดยาวเฉลี่ย 14.6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 40 กรัม พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ แถบชายฝั่งบริเวณจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ส่วนฝั่งอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ เป็นต้น
ภาพ/ข่าว ชูชาติ แดงพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร