จันทร์. พ.ย. 25th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

“อัจฉริยะ” ลุยฟ้อง เพจสืบนครบาล ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาในการนำตัวผู้ต้องหามาถ่ายทำเป็นเรียลลิตี้โชว์แสดงผลงานในเพจ

1 min read

วันนี้ (4 ก.ย. 66) ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชั้น 6 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์​ เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ ให้ตรวจสอบผู้บังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ต้องหาในการนำตัวผู้ต้องหามาถ่ายทำเป็นเรียลลิตี้โชว์แสดงผลงานในเพจ สืบนครบาล โดยขอให้ทาง กสม.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 247 และ พรป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 36

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า การทำงานของผู้บังคับการสืบสวนนครบาล ได้มีการฝ่าฝืนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งผู้ต้องหายังไม่ผ่านกระบวนการของศาลมาทำในรูปแบบเรียลลิตี้โชว์ บางคลิปมีการใช้คำพูดที่ชักจูงไปถึงเรื่องเพศ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาเพราะถึงแม้ผู้ต้องหาจะทำความผิดจริง ตำรวจก็ไม่มีสิทธิจะประจาน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะสิ่งที่สืบนครบาลทำนั้นอาจสร้างตราบาปให้กับครอบครัวของผู้ต้องหา และผู้เสียหายโดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก

โดยนายอัจฉริยะ ได้ยกตัวอย่างว่า ทางเพจได้มีการเปิดเผยรูปของผู้ต้องหาแบบไม่มีการเบลอหน้า ถึงแม้จะไม่มีการบอกชื่อ-สกุลจริง แต่คนในชุมชน หรือคนที่โรงเรียนก็รู้ได้ว่าเป็นใคร ครอบครัวของผู้ต้องหา รวมถึงตัวเหยื่อที่เป็นอาจถูกคนในสังคมตราหน้าได้ อีกทั้งเมื่อทุกอย่างลงโซเชียลไปแล้วการที่จะลบออกก็เป็นเรื่องยาก วันนี้ตนจึงนำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่นำมาลงในเพจทั้งสิ้น 7 คลิปและทั้งหมดเป็นคดีเกี่ยวกับเด็ก มายื่นต่อกสม. เพราะอยากให้ กสม. ยกระดับมาตรฐานให้เป็นตัวอย่าง เพราะตนคิดว่าสิ่งที่สืบนครบาลทำมันทำให้มีผลงานก็จริง แต่มันเป็นวิธีที่ผิด

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ตนมาร้องขอให้กสม. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 (1) และ (2) หรือข้อเสนอแนะตาม (3) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว หรือให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสอบสวนและดำเนินการตามกฎหมายเนื่องจากกรณีนี้ ตนมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและละเมิดสิทธิของเหยื่อที่เป็นเด็กอายุ 12 ปี จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยขอให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีนั้นด้วย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 36 และ 37

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.