วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ( อี.เทค) ลงนามความร่วมมือร่วมวิทยาลัยอาชีวศึกษาฯ ประเทศเยอรมนี เดินหน้าพัฒนาการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน (มีคลิป)
1 min readวันนี้ ( 9 ม.ค.)วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ( อี.เทค) จ.ชลบุรี ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก
( อี.เทค) จ.ชลบุรี ประเทศไทย และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีและมีเดีย เมือง Monchengladbach ประเทศเยอรมนี ณ อาคารอารีน่า 2 วิทยาลัยฯ โดยมี ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ร่วมในพิธีลงนาม และนำคณะผู้บริหารและนักศึกษา ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารทั้ง 4 หน่วยงาน
ประกอบด้วย มร.ยาน แชร์ อุปทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย , ดร.โรรัลน์ ไวน์ ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเยอรมัน –ไทย , มร.มาคุส ฮอฟแมน ผู้อำนวยการโครงการ GTDEE ( German-Thailand Dual Excellence Education), ดร.กมลศักดิ์ สุระดม ผู้จัดการอาวุโสโครงการ GTDEE และ มิสเบอร์กิต บาเท่นชไดน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีและมีเดีย เมือง Monchengladbach ประเทศเยอรมนี
การลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์สำคัญที่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการศึกษาอาชีวศึกษา ,ทำความร่วมมือวิชาการระหว่างอาจารย์ , แลกเปลี่ยนคณาจารย์ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน
แลกเปลี่ยนนักศึกษารวมถึงการให้ทุนในการเรียนในต่างประเทศ,ทำงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก ( อี.เทค) มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษาในรูปแบบของเยอรมัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาและยกระดับอาชีวศึกษาไทยให้สามารถรองรับนโยบายไทยแลน์ 4.0 ของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน
มร.ยาน แชร์ อุปทูตและหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย เผยว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นต้นแบบให้เห็นว่าทั้งสองประเทศสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์จากบทเรียนต่างๆ และยังมีโอกาสได้ทำความรู้จักและแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งสถานทูตประเทศเยอรมนี ยินดีให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่
ดร.โรรัลน์ ไวน์ ผู้อำนวยการบริหารหอการค้าเยอรมัน –ไทย ที่เผยว่าความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ จะทำให้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการแรงงาน ซึ่งโครงการฝึกงานแบบทวิภาคี สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
ด้าน มิสเบอร์กิต บาเท่นชไดน์ เผยว่าการเรียนการสอนของวิทยาลัยทั้งสองแห่ง มีทั้งความต่างและความคล้ายคลึงกัน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นโดยพื้นฐานความเหมือนกันและยังจะได้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ และนักเรียน เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านภาษา การเงิน และด้านต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย