กลับบ้านเฮาเด้อ!ญาติสุดเศร้ารับศพเศร้าแรงงานไทย เหยื่อสงครามอิสราเอล
1 min readบุรีรัมย์-ญาติแรงงานไทยในอิสราเอล ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ รับศพเศร้า ทำงานได้แค่ 2 ปีครึ่ง ยังไม่หลุดหนี้ที่กู้นอกระบบไปทำงาน วอนรัฐบาลหาแนวทางช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน แรงงานจังหวัดชี้มีสวัสดิการทั้งสองประเทศ
วันที่ 1 พ.ย.66 ร้อยเอก กิจสมพงษ์ กล้าหาญ แรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ นางนัฏญา วรชินา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย หัวหน้าหน่วยงาน One Home จังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวพัทธ์ธีรา ขุนชะ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์ นางสาวนิ่มนวล ปานทองผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดบุรีรัมย์
นำพวงหรีดจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปมอบให้แก่ครอบครัวนายจรูญ ชาติดำดี อายุ40ปี บ้านเลขที่36 ม.7 บ้านยางพัฒนา ต.บ้านยาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความไว้อาลัย และแสดงความเสียใจแก่ครอบครัว
โดยระหว่างที่ร่างของนายจรูญ มาถึงที่บ้านพัก ญาติต่างร่ำไห้ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนายจรูญ ถือเป็นเสาหลักของบ้าน ไปทำงานที่อิสราเอล ได้ 2 ปี 6 เดือน แต่ยังชำระหนี้นอกระบบที่กู้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกว่า 100,000 บาท
นางจันทร์ วิเศษสัตย์ อายุ75ปี แม่นายจรูญ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายมีภรรยา มีลูกด้วยกันตอนนี้อายุได้ 10 ขวบ หลังจากหย่าร้างกัน ลูกชายตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ เพราะหวังจะสร้างฐานะ กู้เงินนอกระบบดอกร้อยละ 3 บาท ตอนนี้ยังจ่ายหนี้ไม่หมด ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลมาหาแนวทางช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน
ขณะที่นางพิมพา มณีใส อายุ 47 ปี พี่สาวนายจรูญ เล่าว่าน้องชายไปเป็นแรงงานเก็บผลไม้และฟาร์มวัวให้กับนายจ้าง พอทราบข่าวแล้วสงสารน้องชายมาก เพราะเป็นคนขยัน ได้เงินจากทำงานส่งมาทางบ้านทุกเดือนจนใช้หนี้ไปเกินกว่าครึ่ง ครอบครัวมีกินมีใช้ก็เพราะน้องชายคนนี้ ไม่คิดว่าจะจากไปก่อนวัยอันควร ส่วนการช่วยเหลือของภาครัฐตนไม่รู้ระเบียบ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลไทยมาดูแลหลังจากนี้
ด้านร้อยเอก กิจสมพงษ์ กล้าหาญ แรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ได้กล่าวระหว่างมารอรับศพแรงงานไทยว่า เบื้องต้นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ส่วนสวัสดิการต่างๆ ทั่งฝั่งเมืองไทยและฝั่งประเทศอิสราเอล จะต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เบื้องต้นฝั่งอิสราเอล ก็จะมีระบบคล้ายกับประกันสังคมเช่นเดียวกับประกันสังคมของไทย หลักเกณฑ์ก็เช่นเดียวกันคือทายาทคือลูก พ่อแม่หรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์
ภาพ/ข่าว วาทิตย์ แสนธุปี