พุธ. พ.ย. 27th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

“คปท.” บุก “กรมราชทัณฑ์” จี้ถามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ เอื้อ “ทักษิณ”

1 min read

“คปท.” บุก “กรมราชทัณฑ์” จี้ถามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ เอื้อ “ทักษิณ” พร้อมตั้งข้อสังเกต ปม 22 ธ.ค.นี้ ครบ 120 วัน เหตุใดอยู่ระหว่างพักฟื้นจึงไม่ส่งกลับ รพ.ราชทัณฑ์ ขณะที่ “หัวหน้าผู้ตรวจกรมราชทัณฑ์” ระบุ ระเบียบเพิ่งประกาศใช้ ยัน “ทักษิณ” ยังไม่เข้าเกณฑ์ได้รับพิจารณาภายในปีนี้ เหตุ ขั้นตอนยืดยาว กรมฯ อยู่ระหว่างส่งแนวปฏิบัติแก่เรือนจำทั่วประเทศ ก่อน คกก.พิจารณาเคาะเกณฑ์-รายชื่อ-สถานที่คุมขัง


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. ที่ กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วยนายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำ ร่วมกันทำกิจกรรมสัปดาห์ตามหาความยุติธรรมที่หายไป โดยเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เรื่อง ขอให้รีบนำตัวผู้ต้องขังเด็ดขาด ทักษิณ ชินวัตร กลับเรือนจำ โดยมีนายสมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ เป็นตัวแทนรับเรื่อง
นายพิชัย ไชยมงคล กล่าวว่า ภายหลังที่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้อ้างสิทธิในการเป็นผู้ป่วยแล้วย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำ เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.66 และกรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้มีการรักษาตัวต่อหลังจากที่ผ่านไป 60 วันนั้น โดยอ้างความเห็นของคณะแพทย์ที่อ้างว่ามีการผ่าตัดใหญ่ของนักโทษนั้น จนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 114 วันและใกล้จะครบ 120 วันที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ต้องให้ท่านได้อนุญาตการรักษาตัวนอกเรือนจำต่อไปหรือไม่นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงที่ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นบุตรสาวของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าอาการของ น.ช.ทักษิณ อยู่ระหว่างการพักฟื้นร่างกาย เราจึงเห็นว่ากระบวนการอ้างระเบียบการรักษาตัวนอกเรือนจำ ที่พา น.ช.ทักษิณ ออกมานอนที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่ต้นได้มาถึงทางเลือกที่จะอ้างอาการเจ็บป่วยไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากการนอนพักฟื้นร่างกายหลังอ้างการผ่าตัดนั้น ระเบียบกรมราชทัณฑ์ให้รีบนำกลับมานอนพักฟื้นได้ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพในการรับผู้ต้องขังเด็ดขาดมานอนรักษาตัวในระยะพักฟื้นได้
นายพิชัย กล่าวอีกว่า การจะอนุญาตให้มีการนอนพักฟื้นตัวต่อที่โรงพยาบาลตำรวจต่อหลังจากครบ 120 วัน อาจเข้าข่ายการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 157 การใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเลือกปฏิบัติอันเป็นคุณเป็นโทษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ภายหลังที่สังคมได้ติดตามกระบวนการอ้างระเบียบพา น.ช.ทักษิณ ออกมาจากเรือนจำตลอดเวลาที่ผ่านมา กลับพบว่ากรมราชทัณฑ์ได้เร่งรีบประกาศ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ฉบับใหม่ที่ประกาศให้มีการกำหนดพื้นที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.66 เราจึงมีความเป็นห่วงว่ากระบวนการยุติธรรมไทย กำลังเร่งออกระเบียบและการใช้ระเบียบ เพื่อเอื้ออภิสิทธิ์แก่ น.ช.ทักษิณ เป็นการเฉพาะหรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่กระบวนการแรกก็อ้างระเบียบในการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลา 114 วัน อ้างผ่าตัดใหญ่ 2 ครั้ง มาจนถึงปัจจุบันก็มีการประกาศใช้ระเบียบการกำหนดพื้นที่ต้องขังใหม่แทนเรือนจำ คปท. เห็นว่านี่เป็นการวางแผนใช้ระเบียบพาตัวผู้ต้องขังเพียง 1 คน ไม่ให้ติดเรือนจำจริงแม้แต่วันเดียว เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาที่คุมขังใหม่นั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่า น.ช.ทักษิณ จะได้ใช้สิทธิ์ระเบียบใหม่เป็นคนแรกซึ่งก็เท่ากับว่าผู้ต้องขังเด็ดขาด น.ช.ทักษิณ ผู้ต้องขังตามหมายศาลคดีทุจริตคอรัปชั่นจะไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว คือ วันแรกก็เบิกตัวมานอนโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อครบ 120 วันก็อ้างระเบียบกำหนดให้บ้านจันทร์สองหล้าเป็นที่คุมขังอื่นตามระเบียบ และเมื่อเข้าหลักเกณฑ์พักโทษวันที่ 22 ก.พ.67 ก็ได้รับการพักโทษตามระเบียบกรมราชทัณฑ์อีกครั้ง การกระทำโดยร่วมกันอ้างระเบียบเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายคำพิพากษาของศาลด้วยระเบียบของกรมราชทัณฑ์
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ทาง คปท. มองว่าการร่วมกันใช้ระเบียบเป็นข้ออ้างสำหรับนายทักษิณ เป็นการทำลายคำพิพากษาของอำนาจตุลาการ จึงขอเรียกร้อง 3 ประการ ดังนี้ 1. กรณีที่มีการประกาศใช้ระเบียบกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำนั้น นายทักษิณเข้าหลักเกณฑ์ในการใช้ระเบียบข้อนี้หรือไม่ อย่างไร 2.ขอให้เร่งนำตัวนายทักษิณกลับเรือนจำโดยทันที เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของบุตรสาวล่าสุดได้ระบุชัดเจนว่านายทักษิณ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพักฟื้นจากการผ่าตัด กรมราชทัณฑ์ย่อมสามารถนำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ และ 3.ขอให้กรมราชทัณฑ์รักษากระบวนการยุติธรรม สร้างความเป็นธรรมให้กฎหมายมากกว่าการให้อภิสิทธิ์แก่คนใดคนหนึ่งตามศักดิ์ศรีข้าราชการฝ่ายยุติธรรม
ขณะที่นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า สำหรับกรณีที่นายทักษิณได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ณ ชั้น 14 ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้มีการชี้แจงเรื่องการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำมาอย่างต่อเนื่องต่อหน่วยงานและคณะกรรมาธิการที่เรียกสอบถาม อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังได้รับความเจ็บป่วย ราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องส่งรักษา ส่วนโรงพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไปรักษาก็จะเป็นผู้กำหนดพื้นที่เอง ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจก็ได้มีการตอบข้อซักถามจากผู้ตรวจการแผ่นดินว่าห้องพักชั้น 14 นั้น ไม่ได้เป็นห้องพิเศษแต่อย่างใด และในขณะนั้นช่วงรับตัวนายทักษิณแรกๆ มีเกิดภาวะวิกฤตเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งจริงๆแล้วนายทักษิณจำเป็นต้องอยู่ในห้องไอซียู เพียงแต่ว่าวันนั้นห้องไอซียูของโรงพยาบาลเต็มไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ และเดิมทีห้องบนชั้น 14 ใช้สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 และยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ครบครัน ทางแพทย์จึงพิจารณาว่าในกรณีผู้ป่วยวิกฤติเช่นนี้ จึงต้องนำตัวนายทักษิณไปรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแนวทางการรักษา ทางกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถไปล่วงอำนาจหน้าที่การรักษาของแพทย์ได้
นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งมีการประกาศลงนามล่าสุดนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทักษิณ แต่เพียงแค่ว่าจังหวะมันดันมาตรงกับในช่วงนี้พอดี ส่วนในกรณีที่ก่อนหน้านี้ทางรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้มีการระบุว่าทางกรมจะดำเนินการส่งแนวทางการปฏิบัติให้กับผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น ตนขอชี้แจงว่าระเบียบเพิ่งมีการประกาศบังคับใช้ ซึ่งมันยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะเราไม่ได้ออกระเบียบมาเพื่อคนๆเดียว แต่เราออกระเบียบมาเพื่อรองรับกับผู้ต้องขังทุกคนที่จะผ่านเกณฑ์ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ และในขั้นตอนระหว่างนี้ เรายังต้องดำเนินการหลายประการ ใช้เวลาพอสมควร เช่น รอคำสั่งจากศาล หรือรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ว่าภายหลังจากประกาศบังคับใช้ระเบียบแล้วจะสามารถดำเนินการได้ทันที จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าภายในปีนี้ นายทักษิณ หรือผู้ต้องขังรายใดบ้างที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบดังกล่าว
นายแพทย์สมภพ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการออกระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำ ว่า กรมราชทัณฑ์มีกฎหมายหลักมาตั้งแต่ปี 2560 คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งภายในเนื้อหากฎหมายได้มีการกำหนดถึงสถานที่ในการคุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ เนื่องจากในช่วงนั้นมีการเรียกร้องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรวมถึงปัญหาของผู้ต้องขังที่อาจไม่เกิดผลดีหากจะคุมขังในเรือนจำต่อไป เช่น ผู้ต้องขังสูงวัย ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ผู้ต้องขังเจ็บป่วยรุนแรง หรือผู้ต้องขังที่ไปฝึกอาชีพสำหรับเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ซึ่งจะต้องไปอยู่ในสถานที่อื่น และเมื่อ พ.ร.บ.ฯ กำหนดเช่นนี้ กรมราชทัณฑ์จึงต้องออกกฎกระทรวง และการออกกฎกระทรวงก็จำเป็นจะต้องออกระเบียบเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ
นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า สำหรับกรอบระยะเวลาในการที่แต่ละเรือนจำหรือทัณฑสถานจะไปสำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์จะได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน เพราะยังมีหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน และระเบียบเพิ่งประกาศบังคับใช้ ซึ่งหากมองขั้นตอนเบื้องต้นในหลักการปฏิบัติ เช่น เรือนจำ/ทัณฑสถานแต่ละแห่งมีการสำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ ภายหลังจากรับทราบแนวทางปฎิบัติของกรมราชทัณฑ์แล้ว ก็จะต้องจัดทำรายชื่อเพื่อส่งให้คณะกรรมการพิจารณา จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนของการกำหนดอาณาเขตหรือพื้นที่ที่จะใช้สำหรับเป็นสถานที่คุมขังอื่น เพื่อพิจารณาว่าผู้ต้องขังแต่ละรายคดีนั้นๆ จะได้รับการคุมขังที่ใด ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะต้องไปดูด้วยว่าคณะกรรมการพิจารณาที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดบ้าง และเมื่อพิจารณาเสร็จสิ้น ทางเรือนจำแต่ละแห่งก็จะดำเนินการแจ้งต่อผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ กรณีของนายทักษิณ จึงยังไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการพิจารณาในสิทธิประโยชน์จากระเบียบดังกล่าวภายในปีนี้ เพราะกรมราชทัณฑ์จะต้องสำรวจผู้ต้องขังทั่วประเทศ ดังนั้น จะมองแค่กรณีของนายทักษิณเพียงรายเดียวไม่ได้
“ระเบียบมีการประกาศมาก่อน แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ กรมราชทัณฑ์จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาล ที่เป็นเจ้าของหมายขังคดี และออกเอกสารแนวทางปฏิบัติไปยังแต่ละเรือนจำทั่วประเทศ ทั้งยังต้องมีการกำหนดรายละเอียดปีกย่อยต่างๆ เช่น ขั้นตอนในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่จะไปคุมขังยังสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ รวมทั้งเจ้าของสถานที่ที่จะรับผิดชอบในการดูแลผู้ต้องขัง ซึ่งเรายังไม่สามารถกำหนดวันเวลาที่จะมีการเริ่มใช้ได้ เพราะทางกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาว่าเราจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วงใด ซึ่งตนคาดว่า ภายในช่วงปีหน้าจึงจะได้เห็นกลุ่มผู้ต้องขังล็อตแรกจากทั่วประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบดังกล่าว โดยทั้งหมดที่ผ่านเกณฑ์ก็หมายความว่าล้วนได้รับการพิจารณาทั้งหมดแล้ว เช่น พฤติกรรมระหว่างขณะต้องขังเป็นอย่างไร โทษเหลือจำนวนเท่าไร ได้รับการฝึกวิชาชีพมานานแค่ไหน และคงต้องมีการพิจารณายกเว้นสำหรับผู้ต้องขังในคดีที่คณะกรรมการมองว่าอาจไม่เข้าเกณฑ์ เช่น คดียาเสพติด คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง หรือคดีฆ่าข่มขืน เป็นต้น ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ” นายแพทย์สมภพ ระบุปิดท้าย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. กลุ่ม คปท. จะร่วมกันเดินทางไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นหนังสือสอบถามถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในกรณีที่นายทักษิณจะมีการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ รวมถึงในกรณีที่มีการประกาศลงนามบังคับใช้ระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำ ว่าเป็นการเอื้อต่อนายทักษิณหรือไม่.
ข่าว/ภาพ : พิชญ์ธรา แก้วก่อ 092-925-3861 (วาล์ว)

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.