ปชช.กว่า 300 คน ร่วมจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร “ราชินีแห่งสายน้ำ” พืชท้องถิ่นหนึ่งเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์
1 min readเมื่อวันที่15พ.ย 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์อนุรักษ์พลับพลึงธารคลองตาเลื่อน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ นักเรียน นักศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระนอง รวมทั้งองค์กรเอกชน กว่า 300 คน ได้ร่วมจัดกิจกรรมวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร พืชท้องถิ่นหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ” และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามจากหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกคลองที่เป็นถิ่นอาศัยของพลับพลึงธาร กระจายอยู่ในพื้นที่ด้านทิศเหนือของจังหวัดพังงา และทิศใต้ของจังหวัดระนอง แต่เนื่องจากถูกขุดหัวไปจำหน่าย รวมทั้งภัยคุกคามจากการขุดลอกคลอง ทำให้พลับพลึงธารลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนเกือบสูญพันธุ์ โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่คลองตาเลื่อน บ้านบางซอย หมู่ที่ 2 อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และมีการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์ไปยังจุดต่างๆ ที่เคยเป็นถิ่นกำเนิดของพลับพลึงธาร ในพื้นที่ใกล้เคียงคลองตาเลื่อน และบ้านคลองนาคา จังหวัดระนอง
นายมนัส หามาลา มูลนิธิอิสต์ ฟอรั่ม เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมวันพลับพลึงธารครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักแก่ประชาชนในท้องถิ่นถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ จากธรรมชาติ และกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของพลับพลึงธารตามธรรมชาติ โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันอนุรักษ์พลับพลึงธาร จะมีส่วนร่วมในการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดี ปัจจุบันมูลนิธิอิสต์ ฟอรั่ม ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์พลับพลึงธารในจังหวัดพังงา และระนอง ใน 14 ลำคลอง ประมาณ 13,610 ต้น พบว่ามีอัตราการรอดร้อยละ 70 ซึ่งในปี 2563 วางแผนปลูกเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 20,000 ต้น
นายวิจารณ์ จุนทวิจิตร นายอำเภอคุระบุรี เปิดเผยว่า รู้สึกขอบคุณนายเลื่อน มีแสง นักอนุรักษ์พลับพลึงธาร ซึ่งได้ทุ่มเทปกป้อง อนุรักษ์พลับพลึงธารไว้อย่างจริงจังเพียงลำพัง มานานกว่า 10 ปี ทั้งที่ ไม่เคยรู้ว่าพลับพลึงธารมีคุณค่ามากเพียงใด จนเป็นที่รู้จักของนักวิชาการ และนักท่องเที่ยว และได้รับฉายาว่าเป็น “ผู้เฒ่าเฝ้าพลับพลึงธาร” ในวัย 88 ปี ทำให้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และประชาสังคม ให้ความสนใจหันมาร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์พลับพลึงธารอย่างจริงจัง จนมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
พลับพลึงธารเป็นพืชเฉพาะถิ่น พบเฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก บริเวณจังหวัดพังงาตอนบนและจังหวัดระนองตอนล่าง ชื่อท้องถิ่นเรียกว่า “หอมน้ำ” เนื่องจากมีหัวคล้ายหอมหัวใหญ่ มีดอกสีขาวขนาดใหญ่ชูช่อเหนือน้ำ มองแล้วสวยงามจนได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งสายน้ำ”
ภาพ/ข่าว นายพงษ์ศักดิ์ ประทีป/โกอู๋@ผู้สื่อข่าวอาวุโสจังหวัดพังงา