DSI สรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการกรณี ที่มีการโฆษณาหลอกลวงทำบัตรประชาชนปลอม
1 min read
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ นายราชพฤกษ์ ชูดำ รองผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นายรัชพร วรอินทร์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนไซเบอร์และเจ้าหน้าที่กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ นำสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 98/2566 กรณี การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) ที่มีการโฆษณาหลอกลวงทำบัตรประชาชนปลอม จำนวน 6 แฟ้ม ส่งมอบให้พนักงานอัยการแล้ว
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กรมการปกครอง ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับกรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2566 ว่ามีกลุ่มบุคคลได้จัดทำเฟซบุ๊กชื่อ “เปิดรับลงทะเบียนสิทธิ์ ทำบัตร” และเฟซบุ๊ก“รับสิทธิ์ลงทะเบียน” ลงข้อความและรูปภาพโฆษณารับทำบัตรประชาชน โดยอ้างว่าสามารถใส่เพิ่มข้อมูลในระบบฐานข้อมูลของกรมการปกครองได้ โดยมีการนำภาพบัตรประชาชนที่อ้างว่าเป็นของลูกค้ารายอื่นและรูปถ่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาลงประกาศ (โพสต์) ในเฟซบุ๊กข้างต้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยผู้ประสงค์จะทำบัตรประชาชนจะต้องเสียค่าดำเนินการจำนวน 15,000 – 25,000 บาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้แต่สุดท้ายไม่ได้รับบัตรประชาชนตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 98/2566
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน พบว่ามีผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลไม่มีสัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย กว่า 30 ราย และกลุ่มผู้กระทำผิดเป็นทั้งชาวไทยและคนต่างชาติที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนภาคเหนือของไทย โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สรุปสำนวนดังกล่าวส่งอัยการคดีพิเศษเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีจำนวน 8 ราย เป็นชาวต่างชาติ จำนวน 4 รายและคนไทย จำนวน 4 ราย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง/ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น/ฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานฟอกเงิน ความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และความผิดฐานให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566