พังงา วอนร่วมหาทางออก กลุ่มรักบ้านเกิดค้านปิดแหล่งท่องเที่ยว สวิตฯ เมืองไทยหลังมีประกาศปิดและการอ้างเอกสารสิทธิ์
1 min read เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวจังหวัดพังงารายงานว่า ที่ขุมน้ำเหมืองหินโดโลไมค์ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง จนได้รับฉายา “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา มีการติดป้าย ที่ดินส่วนบุคคล ห้ามบุคคลภายนอกเข้า โดยมีป้ายแถลงการณ์ กลุ่ม รักบ้านเกิด และป้ายต่างๆ โดยเฉพาะมีการปิดป้ายห้ามเข้าในเขตดังกล่าว หลังจากมีการอ้างเอกสารสิทธิ์ และสัมปทาน เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล
ขณะในพื้นที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ จำนวนมากทยอยเดินเข้าออกเพื่อชมความสวยงามในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่สนข้อความแจ้งห้ามเข้าภายในบริเวณขุมน้ำ เช่นเดียวกับกลุ่มรักบ้านเกิดติดป้ายแถลงการณ์ ต้องการให้ ภาครัฐเข้าตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิ์ ว่าเป็นจริงหรือไม่อย่างไรตามที่มีการอ้างถึง
ล่าสุดทางตัวแทนกลุ่มรักบ้านเกิด โดยนายอมรศักดิ์ หอมจันทร์ แกนนำกลุ่ม ยื่นหนังสือให้แก่ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.เขต 3 ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะ โฆษกกรรมาธิการที่ดิน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายวรวุฒิ ชัยธนะวิวรรธ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวไกลพังงา ต้องการให้ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน ขุมน้ำ ดังกล่าว ด้าน กลุ่มรักบ้านเกิด ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องการให้เกิดความชัดเจน หลังจากมีการติดป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้าและประกาศปิดพื้นที่ดังกล่าว
โดย นางสุจินดา พันธะกิจ อายุ 61 ปี แม่ค้าในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา กล่าวว่า หากมีการปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมความสวยงามในพื้นที่ดังกล่าวจริง ตนเองและ พ่อค้า แม่ค้า กว่า 30 ร้าน จะได้รับผลกระทบ ไม่สามารถขายสินค้าได้
ด้านสุกัญญา คล่องการ อายุ 55 ปี แกนนำกลุ่ม รักบ้านเกิด กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้าช่วยบริหารจัดการพื้นที่ให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ หนุนเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ส่วนนายอมรศักดิ์ หอมจันทร์ แกนนำกลุ่มรักบ้านเกิด กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการที่ดิน เกิดจากหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เข้ามาดูแลพื้นที่ และไม่ได้จัดสรรประโยชน์ตามที่ชาวบ้านร้องขอ
นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.เขต 3 ภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะ โฆษกกรรมาธิการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ที่การอ้างถึงการถือครองเอกสารสิทธิ์ เป็น นส.3 ซึ่งมีความไม่ชัดเจน โดยชาวบ้านยืนยันว่าเป็นที่สัมปทานเหมืองเก่า และหมดอายุสัมปทาน ควรจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความนิยมจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้าน กระทั่งมีการอ้างสิทธิ์ครอบครอง ทำให้ภาครัฐไม่สามารถบริหารด้านความปลอดภัย เช่น เรือยาง ชูชีพ และมาตราการความปลอดภัยต่างๆ จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ส่วนป้ายที่ติดประกาศไม่ระบุว่าเป็นของหน่วยงานใด ทางกรรมาธิการฯจึงรับเรื่องเพื่อตรวจสอบให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย โดยหากมีการขอสัมปทานเหมืองแร่ เหมืองหิน ในพื้นที่ใหม่ ที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ทางกรรมาธิการฯ จะเข้ามาขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้นต่อไป
ทและเพื่อให้การท่องเที่ยวสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงที่ดีแก่ชุมชนและจังหวัดพังงาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมทุกฝ่ายจึงวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องควรหาทางออกที่ดีร่วมกันต่อไป
ภาพ / ขอบคุณภาพเครือข่ายข่าว
ข่าว โกอู๋@นักข่าวอาวุโสจังหวัดพังงา รายงาน