ชลบุรี ทุกภาคส่วนจัดปล่อยแถวปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายระยะเร่งด่วน ของรัฐบาล
1 min read
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 18.00 น. นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานพิธีปล่อยแถวปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) จังหวัดชลบุรี ณ. บริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมีนายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าการจังหวัดชลบุรี นายอดิเรก อุ่นโอสถ ปลัดจังหวัดชลบุรี ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค2 สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี นายอำเภอ และผู้กำกับการสถานีตำรวจ ร่วมกิจกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินงานในการปราบปราม ยาเสพติดอย่างจริงจังเด็ดขาด ให้มีผลการจับกุมผู้กระทำความผิดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเป้าหมายที่สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดเป็นพื้นที่สีแดงที่มีปัญหายาเสพติครุนแรง จำนวน 25 จังหวัด ซึ่งจังหวัดชลบุรีได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง
ขณะที่นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรีได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหา ยาเสพติดในระดับที่สูงมาก ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ตามนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตคาดว่า ปัญหายาเสพติดยังคงมีแนวโน้มรุนแรง และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนมีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการ แก้ไขปัญหาดังกล่าว จังหวัดชลบุรี จึงได้กำหนดให้มีพิธีปล่อยแถวปฏิบัติการ เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) จังหวัดชลบุรี ในวันนี้ เพื่อบูรณาการการสนธิกำลังกับส่วนราชการที่มีความเกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 300 นาย พร้อมพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร จำนวน 50 นาย พร้อมพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จำนวน 270 นาย พร้อมพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่ ปปส.ภาค 2 จำนวน 20 นาย พร้อมพาหนะ กำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 30 นาย พร้อมพาหนะ รวมทั้งสิ้น 670 นายในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะสถานบันเทิง โรงงาน รวมไปถึงชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้ยาเสพติด ผู้ขาย ผู้เสพ ลดน้อยลง และหมดไปในที่สุด