“บิ็กต่าย” นำเปิด โครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ในระดับผู้บริหารขั้นต้นหน้างานป้องกันปราบปรามของ บช.น.”
1 min read “บิ็กต่าย” นำเปิด โครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ในระดับผู้บริหารขั้นต้นหน้างานป้องกันปราบปรามของ บช.น.พร้อมชมการสาธิตเข้าระงับเหตุ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 สิงหาคม ที่ อาคารฝึกยุทธวิธี กองกำกับการสายตรวจ 191 กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ในระดับผู้บริหารขั้นต้นหน้างานป้องกันปราบปรามของ บช.น.” โดยมีพล.ต.ท. สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร.,พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รอง ผบช.น.,พล.ต.ต.วรวิทย์ ญาณจินดา ผบก.สปพ. รวมทั้ง ผู้แทนระดับ รอง ผบก. บก.น.1-9 รอง ผกก.ป. ทั้ง 88สน. และผู้เข้ารับการฝึกอบรมฯ รุ่นที่ 1 (จำนวน 49 นาย) พร้อมทั้งได้ร่วมรับชมการแสดงสาธิตยุทธวิธีตำรวจในการเข้าระงับเหตุจับกุมคนร้าย
พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความสลับซับซ้อนตามสภาพเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป การก่อเหตุของคนร้าย มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสายป้องกันปราบปราม ซึ่งรอง ผกก.ป. และ สวป. แต่ละ สน. ถือเป็นผู้บริหารเหตุการณ์ขั้นต้นในกรณีหากเกิดเหตุการณ์ที่มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในการระงับเหตุ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และได้รับการพัฒนาฝึกทบทวนยุทธวิธีอย่างสม่ำเสมอ บช.น. จึงได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมการประเมินสถานการณ์ฯของ บช.น. ขึ้น โดยให้ บก.น. 1-9 พิจารณาคัดเลือกระดับ รอง ผกก.ป. และ สวป. ในสังกัดจำนวน 88 สถานี รวมทั้งสิ้น 245 นาย แบ่งการฝึกทบทวนออกเป็น 5 รุ่น เพื่อให้ผู้สำเร็จการฝึกทบทวน สามารถกลับไปถ่ายทอดยุทธวิธีตำรวจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาประจำสถานีตำรวจได้อีกด้วย โดยกำหนดการฝึกทบทวนตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. จนถึง 4 ก.ย. 67 รวม 15 วัน ซึ่งมีคณะวิทยากรและเจ้าหน้าที่จาก กก.สายตรวจ บก.สายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เป็นเจ้าภาพ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย บช.น. เน้นย้ำให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ยึดหลักกฎหมาย และเป็นที่ไว้วางใจของพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ลดอาชญากรรม สร้างความปลอดภัย ใส่ใจบริการ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สภ.นาหวาย และเกิดเหตุสูญเสีย “รองหรั่ง” ในพื้นที่สน.ท่าข้าม จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากขาดการประเมิน ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือทางรอง.ผกก.และสารวัตรเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ ที่ระดับต่ำกว่านั้นได้มีการฝึกทบทวนยุทธวิธีไปแล้ว ทั้งนี้ทางรอง.ผกก.และสารวัตรจะต้องประเมินนำพาชุดปฏิบัติให้ปลอดภัยไม่ได้รับการอันตรายใดๆ และสำเร็จในภารกิจนั้นตามหลักยุทธวิธีตำรวจและกฎหมายที่บัญญัติไว้
อย่างไรก็ตามตนต้องขอขอบคุณผบช.น.รวมไปถึงผู้บังคับการทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาสำหรับรอง.ผกก.และสารวัตรภายใต้การกำกับการของพล.ต.ท.สำราญ ซึ่งตนก็ได้พูดคุยกันตลอดเวลา ซึ่งตอนนี้ตนได้ให้ทางสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำรวจในเรื่องเสื้อเกราะ อาวุธประจำกาย ประจำหน่วย และปืนเทรเซอร์ประจำกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการ ที่มีข้อจำกัดในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆซึ่งเป็นเรื่องของงบประมาณ โดยจะต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่กับโครงการที่จัดทำให้สอดคล้องกัน ซึ่งทางสำนักงานกำลังพล ได้นำข้อมูลจัดเตรียมไว้แล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการในการจัดทำคำของบประมาณในปี 68 ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนงบประมาณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่คุ้มค่า เพื่อให้ผู้บริหารชั้นต้นในหน้างานป้องกันปราบปรามเกิดทักษะความชำนาญและมีการตัดสินใจที่ส่งประสิทธิภาพที่สุด ตนหวังว่าช่วงเวลาในการอบรมทบทวนโครงการนี้จะต้องเกิดความสำเร็จ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการที่ทางผู้ฝึกตั้งใจ ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้ฝึกมาเพื่อพักผ่อน แต่ให้มาเพื่อฝึกทบทวนถึงองค์ความรู้ทั้งทางด้านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ