กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 7 สัปดาห์รอบรู้สู่สุขภาพดี ครั้งที่ 1 (มีคลิป)
1 min readกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ 7 สัปดาห์รอบรู้สู่สุขภาพดี ครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐานได้รับความรู้ในการปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงผลักดันให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพในสถานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ (13 มกราคม 2563) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ 7 สัปดาห์รอบรู้สู่สุขภาพดี ครั้งที่ 1 ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 9 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า วัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมกินผักผลไม้ต่อวันเพียงพอตามข้อแนะนำเพียงร้อยละ 25.9 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ร้อยละ 19.2 มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพียงร้อยละ 36.43 มีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 พบโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 24.7 ถือเป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถป้องกันได้หากประชาชนมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม กรมอนามัยจึงได้นโยบายในการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อประชาชน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรในองค์กรให้เป็นต้นแบบการมีสุขภาพดี บุคลากรมีความสุข โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ 7 สัปดาห์รอบรู้ สู่สุขภาพดี ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ได้รู้เท่าทันสุขภาพของตนเอง รวมทั้งได้รับความรู้ในการปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดกระบวนการที่นำไปสู่การส่งเสริมสุขภาพ ในสถานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“การสร้างสุขภาพดีให้เริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 จุดเริ่มต้นทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง โดยวัดรอบเอวและชั่งน้ำหนักและเริ่มก้าวด้วยการเดินให้ได้ประมาณวันละ 10,000 -15,000 ก้าว จะช่วยเผาผลาญร่างกายได้ 350-500 แคลอรี่ สัปดาห์ที่ 2 ควรกินแป้งวันละ 6-8 ทัพพี ลดหวาน มัน เค็ม และเพิ่มการออกกำลังกายให้มากขึ้น สัปดาห์ที่ 3 เน้นกินเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ดื่มนมไขมันต่ำวันละ 1-2 แก้ว หลีกเลี่ยงน้ำหวาน และดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สัปดาห์ที่ 4 เลือกกินผักสด และผลไม้สดให้มากขึ้น และระหว่างการทำงาน ควรทำกายบริหารยืดกล้ามเนื้อทุก 1 ชั่วโมง พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก 10 นาที และปรับท่าการทำงานทุก 20 นาทีเพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม สัปดาห์ที่ 5 กำจัดความเครียด ด้วยการดูหนัง ฟังเพลง และ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7-9 ชั่วโมง สัปดาห์ที่ 6 ทบทวนการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน-หลังออกกำลังกายท่าละ 10-30 วินาที และออกกำลังกายให้ต่อเนื่องมากกว่า 20 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน ถ้าน้ำหนักไม่ลดให้เพิ่มเวลาเป็น 30-60 นาที รวมทั้งดูแลรูปร่างให้กระชับด้วยการออกกำลังกายและทุกๆ สัปดาห์ควรเพิ่มจำนวนก้าว 10 เปอร์เซ็นต์ และจดบันทึกจำนวนก้าวทุกครั้ง และสัปดาห์ที่ 7 สัปดาห์สุดท้ายแห่งการพิชิตเส้นชัย วิถีสุขภาพดี โดยประเมินร่างกายตัวเอง เพื่อเปรียบเทียบร่างกายก่อนและหลังเข้าโปรแกรม 7 สัปดาห์รอบรู้ และทบทวนความรู้ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 รวมทั้งประเมินร่างกายตัวเองอีกครั้งเมื่อครบ 6 เดือนหรือ 12 เดือน หลังจากครบทั้ง 7 สัปดาห์แล้ว ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเองตามแนวทาง 7 สัปดาห์ต่อไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ภาพ/ข่าว สมัย นิกูลรัมย์