สุรินทร์ ผู้ว่าเรียกนายอำเภอ 17 อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ (มีคลิป)
1 min readสุรินทร์ ผู้ว่าเรียกนายอำเภอ 17 อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์น้ำ เตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ กำชับทุกอำเภอและส่วนที่เกี่ยวข้องสำรวจติดตามและเร่งดำเนินมาตรการรับมือไม่ให้กระทบชาวบ้าน น่าห่วงสุด อ.ปราสาท
วันนี้(27 ม.ค.63) ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานสุรินทร์ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (สะ-เหนง) ต.เฉนียง (ฉะเหนียง)อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอทุกอำเภอ และป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ร่วมประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และรายงานการติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกัน และลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ หลังจากที่จังหวัดสุรินทร์ ได้เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหรือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาโดยเฉพาะในชุมชนขนาดใหญ่อย่างชุมชนเมืองสุรินทร์ และอำเภอต่างๆ ณ ปัจจุบันยังคงเพียงพอมีน้ำผลิตน้ำประปาได้ตลอดฤดูแล้งนี้ แต่มีบางพื้นที่ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากมีปริมาณน้อย ดังนั้นทางจังหวัดสุรินทร์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายไกรสร กองฉลาด ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกันและเตรียมพร้อมป้องกันและลดปัญหาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอย่างเช่นห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำอำปึลที่เป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนเมืองสุรินทร์ ที่เคยประสบปัญหาวิกฤตน้ำแห้งขอดมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 15 ล้านกว่าลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 72 เปอร์เซ็นของความจุ ส่วนอ่างเก็บน้ำอำปึลปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 24 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ87 ของความจุ ซึ่งก็ยังคงอยู่สภาวะปกติ น่าจะเพียงพอต่อการนำมาใช้เป็นน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนเมืองสุรินทร์จนถึงสิ้นฤดูแล้งนี้ แต่ประชาชนผู้ใช้น้ำอย่านิ่งนอนใจขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่ามากที่สุดไม่เช่นนั้นอาจจะเจอวิกฤตซ้ำอย่างเช่นปีที่ผ่านมา
สำหรับจังหวัดสุรินทร์มีแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาทั้ง 17 อำเภอ ทั้งสิ้น 784 แห่ง มีปริมาณน้ำเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม จำนวน 659 แห่ง ไม่เพียงพอ 125 แห่ง โดยจังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการผันน้ำจากแหล่งสำรองเข้าเพิ่มเติมแล้ว และที่น่าห่วงคืออ่างสุวรรณภา ซึ่งเป็นอ่างที่นำน้ำดิบมาใช้ในการผลิตน้ำประปาเลี้ยงชุมชนในเขตเทศบาลตำบลกังแอน อ.ปราสาท มีน้ำเหลือเพียง 37 เปอร์เซ็นต์
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.สุรินทร์ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดถึงขั้นประกาศเป็นพื้นที่ปะสบภัยแล้ง ยังคงอยู่ในสถานะที่สามารถรับสถานการณ์ได้ โดยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการสั่งการให้ผันน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ พร้อมให้สำรวจพื้นที่แหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านใดมีปัญหาให้เร่งผันน้ำเข้ามาเก็บกัก ทุกอำเภอได้ปฏิบัติตาม รวมถึงให้ดำเนินการทำฝายกระสอบทรายตำบลละหนึ่งฝายไว้เก็บน้ำ ซึ่งก็ทำได้ตามเป้า ทุกอำเภอสามารถอยู่ในภาวะที่สามารรับมือได้ สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง(สะ-เหนง)และอ่างเก็บน้ำอำปึล ที่เคยเกิดวิกฤตที่ผ่านมา และเป็นที่ยังคงกังวลของประชาชนในปีนี้ ซึ่งได้มีการติดตามข้อมูลและลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง ห้วงเดียวกันพบว่าในปีที่ผ่านมาเมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ ซึ่งพบว่าปัญหาปริมาณน้ำหายไปถึง 21 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ล่าสุดในปีนี้พบว่ามีปริมาณน้ำทั้ง 2 แห่ง กักเก็บอยู่ที่ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของอัตราการระเหยของน้ำในแต่ละเดือนหายไปเป็นล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตามในปีนี้สิ่งที่พี่น้องประชาชนกังวลนั้น ก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะชลประทานและทางประปา ให้ข้อมูลตรงกันซึ่งสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้จนถึงเดือนกันยายนนี้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือระยะยาว ด้วยชุมชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ได้สั่งให้ทำเรื่องแผนพัฒนาลุ่มน้ำขึ้นมา ดูตั้งแต่ต้นน้ำเช่นทางเหนือก็ดูตั้งแต่อำเภอพนมดงรักลงมาจนถึงลำน้ำมูล ทางเหนือก็ดูตั้งแต่ลำพลับพลาลงมา ถึงลำน้ำมูล ทางน้ำที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำและลำน้ำมูลมีสิ่งกีดขวาง หรือทางน้ำเปลี่ยนไปอย่างไรหรือไม่ ซึ่งจะต้องดูทั้งระบบ ที่สำคัญเรื่องของการขุดลอกต่างตอบแทน ก็ได้ให้มีการปรับสเกลลงมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพรับขุด ถมดินรายย่อยได้เข้าถึง ก็มีแผนไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะประหยัดงบประมาณของทางราชการได้ไม่น้อย
สำหรับเรื่องน้ำที่เร่งน้ำมากักเก็บในช่วงนี้จะไม่รวมไปถึงการทำการเกษตร แต่หากปลูกพืชน้ำน้อยได้ เลี้ยงสัตว์ได้ แต่ห้ามเด็ดขาดและขอความร่วมมือเรื่องการทำนาปรัง ส่วนพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงเรื่องของสถานการณ์น้ำในขณะนี้ก็คือพื้นที่อำเภอปราสาท ที่อ่างเก็บน้ำสุวรรณา เพราะที่ผ่านมาไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ แต่ก็ได้ให้เร่งดำเนินการสูบน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ แต่ปริมาณน้ำก็ยังน้อยมีอยู่ประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตร คาดว่าถึงเมษายนนี้น้ำคงจะหมด แต่ก็ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และเตรียมแผนสำรองไว้ โดยการสำรวจหาแหล่งน้ำมาเติม ซึ่งก็มีอยู่ระยะทางกว่า 7 กิโลเมตร ซึ่งที่ผ่านมาทางอำเภอก็ดำเนินการอย่างได้ผล ในขณะที่พื้นที่ห่างไกลและไม่มีแหล่งน้ำ ได้มีแผนเจาะน้ำบาดาลและสำรวจแจกจ่ายน้ำ ก็ได้เตรียมการไว้แล้ว