พ่อเมืองตาก ประชุมร่วม กมธ.ท้องถิ่น เดินหน้าขับเคลื่อน อปท.รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด”
1 min readเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานร่วมการประชุม และรับฟัง การแสดงความคิดเห็น การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นครแม่สอด ที่ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด หลังใหม่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แกนนำชุมชน และผู้ประกอบการการค้าชายแดนไทย อำเภอแม่สอด โดย ดร.เทอดเกียรติ ชินสรนันท์ ดร.ฝอ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก และคณะให้การต้อนรับ และกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ ในการประชุมครั้งนี้
การเดินทางมาประชุมและศึกษาดูงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(แม่สอด) ของคณะกรรมาธิการ การปกครองท้องถิ่น สมาชิกวุฒิสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก่อนที่จะมีการขับเคลื่อนเดือนหน้า ให้เกิด อปท.รูปแบบพิเศษ”นครแม่สอด” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ไปพร้อมๆกัน
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวว่า “นครแม่สอด” เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาเศรษบกิจพิเศษ มีความพร้อม และศักยภาพ ในการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจและสังคม รายการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นทางด้านการศึกษา รายได้ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่
รายงานข่าวแจ้งว่าการยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ“นครแม่สอด” ของคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นั้นเพื่อผลักดันและสนับสนุนรวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิด อปท.รูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” ด้วยเหตุผลสําคัญที่ต้องการยกฐานะเทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” นอกเหนือจากลักษณะพิเศษที่เป็นชายแดนแล้ว แม่สอดยังมีความหลากหลายทั้งทางวัฒนธรรม เป็นเมืองที่ติดกับเมียวดีซึ่งถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศเมียนมา ซึ่งมีการพัฒนาในลักษณะของการเป็นเมืองพิเศษ ล้ำหน้าไทยไปแล้ว และนักลงทุนจีน,ญี่ปุ่น,ไทย,เกาหลี,อเมริกา ย้ายฐานการลงทุนไปที่เขตเศรษฐกิจเมียวดีและโก๊กโก่ ประเทศเมียนม่าร์ เช่น บริษัท บางกอกรับเบอร์ จำกัด / เคอรี่โลจิสติกส์ (KERRY LOGISTICS) / บริษัท ท็อป ฟอร์ม บราเซีย จำกัด / กลุ่มทุนจีน YATAI INTERNATIONAL ฯลฯ ซึ่งการค้าชายแดน ถ้าเราดูมูลค่าของการส่งออกเปรียบเทียบในปี 2551 มูลค่าประมาณ 17,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 55,900 ล้านบาท ปี 2561 ประมาณ 73,272 ล้านบาท และปี 2562 ประมาณ 69,468 ล้านบาท จะเห็นว่ามีมูลค่าที่มีนัยสำคัญ มูลค่าการนำเข้าเติบโตจาก 1,200 ล้านบาท เป็น 3,490 ล้านบาท เป็นประเด็นว่าถ้ามีการบริหารจัดการที่เหมาะสมน่าจะมีการผลักดันศักยภาพที่เติบโตไปได้ได้ดีกว่านี้อย่างมหาศาล และมีแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ของนครแม่สอดจำนวนมาก ถึงแม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้จะช่วยทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ แม่สอดเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก มีการลงทุนในอุตสาหกรรม ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็จะเกิดปัญหาในระยะยาวในเรื่องของการกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทบกับการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง เนื่องจากพื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้เกิดมีการค้า การลงทุน มีผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่จำเป็นต้องมีมาตรการในการเตรียมพร้อมรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที จากศักยภาพ คุณสมบัติ และความพร้อมที่เห็นว่าเทศบาลนครแม่สอดมีความเหมาะสมที่จะยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และจากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของประเทศไทย โดยการใช้ประโยชน์จากศักยภาพพื้นที่ชายแดนของไทยซึ่งเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญในการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านและการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ บริเวณชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะนำไปสู่การกระจายความเจริญ ไปยังภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
พื้นที่แม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ตั้งอยู่แนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพในการขนส่งสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศเมียนมา-อินเดีย ทำให้มีนักลงทุนทั้งจากในพื้นที่ นอกพื้นที่ หรือนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เทศบาลนครแม่สอดมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ให้พร้อมรับต่อการเข้ามาของทุนดังกล่าว อาจกล่าว ได้ว่าสภาพความเป็นเมืองการค้าชายแดน แหล่งท่องเที่ยวชายแดนที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามา และความพยายามในการบริหารจัดการพื้นที่ การจัดบริการสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ ของเทศบาลนครแม่สอดอาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นของพื้นที่ในอนาคต ที่มีศักยภาพในการเป็นประตูเศรษฐกิจที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถพัฒนาให้เป็นฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ