ศรีสะเกษ ชวนเที่ยวงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ 2563 (มีคลิป)
1 min readเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 14.00 น. ที่โรงละครเธียร์เตอร์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์บริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ รองศาสตราจารย์ ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และนางธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ 2563 ” ในระหว่างวันที่ 11 – 15 มีนาคม 2563 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี พล.ต.ต.สันติ เหล่าประทาย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ นายสมเกียรติ ศรีขาว นายอำเภอเมืองศรีสะเกษ ว่าที่ร้อยตรี ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผู้อำนวยการ สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมรับฟังการแถลงข่าวเป็นจำนวนมาก
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคสมัยอารยธรรมขอมโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่า 1,000 ปี จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น“ดินแดนปราสาทขอมโบราณ”ที่อุดมสมบูรณ์หลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองที่เป็นอัตลักษณ์เช่น เขมร ส่วย ลาว เยอ บางชุมชนก็อาศัยอยู่ร่วมกันแบบผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างลงตัว มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างกันแต่ก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความเป็นเอกภาพ ปัจจุบันยังมีบางหมู่บ้านที่มีการสำรวจพบว่ามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเองที่แตกต่างจากชนพื้นเมืองหลักของจังหวัดศรีสะเกษ มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับชนพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่อีดีต เช่น ไทโคราช ไทบูร ผู้ไท และชาวจีน
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากจะมีอัตลักษณ์เกี่ยวกับชนพื้นเมือง “สี่เผ่า ไทศรีสะเกษ”แล้ว ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดินแดนอารยธรรมขอมโบราณ ที่มีปราสาทขอมโบราณและอารยธรรมแห่งความศรัทธาที่สะท้อนถึง อิทธิพลทางศาสนาพราหมและอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ และ“ความกตัญญู”ของกษัตริย์ขอมที่มีต่อบรรพชนและบูรพกษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่นการสถาปนาและการบวงสรวงบูชา “กมรเตง ชคตะ”(หมายถึง เทพเจ้าแห่งจักรวาลที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ทั้งปวง และยังใช้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณบูรพกษัตริย์ขอมโบราณ ) นามว่า “ศรีพฤทเธศวร” ณ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ กษัตริย์ผู้สร้างปราสาทได้เป็นร้อยปราสาท แต่การสถาปนา “กมรเตง ชคตะ” อาจจะมีได้เพียงแค่หนึ่งปราสาทเท่านั้น เช่น กมรเตง ชคตะ ศรีสิขเรศวร ณ ปราสาทเขาพระวิหาร / กมรเตง ชคตะ ศรีภัทเรศวร ณ ปราสาทวัดภู (ประเทศลาว) และ กมรเตง ชคตะ ศรีพฤทเธศวร ณ ปราสาทสำกำแพงใหญ่ และเป็น“อารยธรรมแห่งความศรัทธา” และเป็นความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมขอมโบราณที่ปรากฏในจารึกและประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองของจังหวัดศรีสะเกษมาแต่โบราณ
ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดศรีสะเกษมี “ดงดอกลำดวน” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า 50,000 ต้น ออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมขจรกระจายไกลในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (วันวิษุวัตสงกรานต์ หรือ 2 ค่ำ เดือน 5) เป็นความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติหนึ่งเดียวของประเทศไทย คือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนแห่งนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2524 “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อการสร้างปราสาทขอมโบราณตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ถึงยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปรากฏให้ว่ามีการนำเอา“ดอกลำดวน” ไปสลักไว้ตามซุ้มประตูหรือเสาโคปุระของปราสาทขอมโบราณหลายแห่ง รวมทั้งปราสาทสระกำแพงใหญ่ด้วย
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์บริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า งานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ 2563 ขึ้นระหว่างวันที่ 11- 15 มีนาคม 2563 ภายในงาน มีการแสดง และวิถี 4 เผ่า (ส่วย เขมร ลาว เย่อ) อาหาร ขนม อร่อยๆ แต่ละชนเผ่า และสินค้า OTOP ผ้าสวย กิจกรรมการคัดสรรรากวัฒนธรรมของดีบ้านฉันประเภทประเพณี ประเภทศิลปะการแสดง จาก 22 อำเภอ เช่น การประกวดส้มตำ การสาธิตการทำอาหารพื้นบ้าน การประกวดจักสาน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แสดงนิทรรศการภาพเขียน งานศิลปะ งานเครื่องปั้นดินเผา ของศิลปินท้องถิ่น การแสดงภาพวาด สาธิตการวาดภาพของศิลปินท้องถิ่นและการประกวดวาดภาพ การจำหน่ายอาหารพื้นเมือง สินค้าผลิตภัณฑ์พื้นเมือง (OTOP) และผลผลิตทางการเกษตร ส่วนในภาคกลางคืน มีการแสดงแสง สี เสียง ” อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ปีนี้เสนอตอนใหม่ ชื่อตอน “สืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7”ระบบ 3 มิติ. แสดงโดย ทีมอาจารย์ ข้าราชการ และ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ประมาณ 300 คน แสดง 3 คืน วันที่ 13,14,15 มีนาคม 2563 เริ่มแสดงเวลา 19.00 น. โดยจะมีการซ้อมใหญ่ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 และจัดที่นั่งไว้ให้ชมประมาณ 3,000 ที่นั่ง จึงขอเชิญชวนเที่ยวชมงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ 2563 ขึ้นระหว่างวันที่ 11- 15 มีนาคม 2563 ด้วย
นางสาวธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวว่า ททท.ได้ให้การสนับสนุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ #เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ ประจำปี 2563 โดยการบรรจุในปฎิทินท่องเที่ยวของ ททท. และทำการตลาดเผยแพร่การจัดงานไปยังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ และ สำนักงานต่างประเทศ 29 สำนักงานทั่วโลก สำหรับ ในช่วงการจัดงานในระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2563 นี้ นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือนศรีสะเกษ จะได้สัมผัสวิถีวัฒนธรรม ยลกลิ่นความหอมของดอกลำดวนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกว่า 50,000 ต้น และได้ท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ผามอีแดง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนทุเรียนภูเขาไฟ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาอีกมากมาย พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้มากราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสริมมงคลชีวิต ซึ่งคาดว่าจะสร้างความประทับใจมิรู้ลืมในการที่ได้ท่องเที่ยววิถีไทยชมดอกไม้ไทยที่เมืองศรีสะเกษ และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ตามแผนตลาดการท่องเที่ยวปี 2563 ของ ททท.สำนักงานสุรินทร์ ตามโครงการเที่ยวแซ่บ @ เมืองชายแดน โครงการ Coolอีหลีที่ศรีสะเกษ ชวนมาเที่ยวเมืองหอมๆ หอมดอกลำดวนบานกว่า 50,000 ต้น ช้อป หอมกระเทียม ของฝากทั้งผ้าแส่วย้อมมะเกลือ สามารถส่งไปรษณีย์ไทย หรือKerry กลับบ้านได้ ตามโครงการเที่ยวตัวปลิว ชิลอีสาน ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษมีความ พร้อมทั้งด้านที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง ที่จะรองรับนักท่องเที่ยว จึงขอเชิญชาวศรีสะเกษเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ