กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ และ อบต.คลองนารายณ์ รวมพลังนำชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายกระสอบกักเก็บน้ำก่อนสูบดันน้ำย้อนกลับจากคลองภักดีรำไพ
1 min readจันทบุรี กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับ เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ และ อบต.คลองนารายณ์ รวมพลังนำชาวบ้านร่วมกันสร้างฝายกระสอบกักเก็บน้ำก่อนสูบดันน้ำย้อนกลับจากคลองภักดีรำไพ ช่วยเกษตรกรชาวสวนผลไม้ แก้ปัญหาภัยแล้ง
ที่บริเวณสะพาน 3 บ้านคลองเตย – ทองทั่ว หมู่ 11 ตำบลคลองนารายณ์ เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ ร่วมกับ อบต.คลองนารายณ์ กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคลองนารายณ์ ได้ร่วมผนึกกำลัง ท้องถิ่น – ท้องที่ สู้ภัยแล้ง กั้นฝายกระสอบเพื่อกักเก็บน้ำ ก่อนที่จะนำเครื่องสูบน้ำพญานาค ดันน้ำย้อนกลับจากคลองภักดีรำไพ ขึ้นไปตามลำคลอง /คลองเตย – คลองนารายณ์ ไปจนถึง บ้านตีนเขา หมู่ 1 ต.คลองนารายณ์ เพิ่มปริมาณน้ำดิบให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพิ่มประมาณผลผลิต สร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิตเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และ เป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำในคลองนารายณ์ และลำคลองสาขา
โดยนายอานุภพ สังขนาค ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.คลองนารายณ์กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ของท้องถิ่น และ ท้องที่ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากภัยแล้งให้ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ได้มีน้ำในการบำรุงผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ปัจจุบันน้ำจากน้ำตกคลองนารายณ์ไม่เพียงพอในการบำรุงผลผลิต และเกิดภาวะภัยแล้งบางสวนน้ำไม่พอใช้แล้ว จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาโอกาสดีที่พื้นที่คลองนารายณ์อยู่ใกล้คลอง ภักดีรำไพ หรือคลองของพ่อ จึงเป็นแหล่งน้ำดิบผลักดันน้ำย้อนกลับมาเติมลำคลองที่ยาวขึ้นไปด้านบนประมาณ 9 กิโลเมตรเกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านและสวนผลไม้กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งเทศบาลฯ จะมีการนำเครื่องสูบน้ำพญานาคมาสูบน้ำขึ้นด้านบนให้ชาวสวนมีน้ำเพียงพอ
ขณะที่ นางสาลี่ มั่งคั่ง คุณยายเจ้าของสวนผลไม้ หมู่ 1 ต.คลองนารายณ์กล่าวว่าตอนนี้ที่สวนไม่มีน้ำคลองให้สูบลดน้ำต้นไม้แล้ว อาศัยช่วยตัวเองจากน้ำใต้ดินบ่อบาดาล ซึ่งก็ใกล้แห้งขอด หากการผลักดันน้ำย้อนกลับได้ผลก็จะช่วยเกษตรกรมีน้ำพอที่จะลดน้ำต้นไม้ได้ อย่างไรก็ตามจังหวัดจันทบุรีได้ประชุมคณะกรรมการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง ในพื้นที่บางส่วนของอำเภอมะขาม และ อำเภอนายายอามแล้วเพื่อยับยั้งภัยพิบัติในพื้นที่ 2 อำเภอ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบสาธารณะภัย ภัยแล้ง แต่อย่างใดเนื่องจากจังหวัดจันทบุรียังมีแหล่งน้ำดิบที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการยับยั้งแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ ไม่เหมือนจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศที่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้วเนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนเหมือนจังหวัดจันทบุรี
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก