รมช.มท.เยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนต้นแบบสู่การต่อยอดแลนมาร์คท่าจีน
1 min readเมื่อ เวลา 13.00 น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และคณะลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวม ของเทศบาลตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด,นายรังสรรค์ เจียระไน นายกเทศมนตรีตำบลท่าจีน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมให้ข้อมูลพร้อมพาเยี่ยมชม
โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะ ได้ลงเรือเพื่อชมแนวทางการบริหารจัดการน้ำเสีย ของเทศบาลตำบลท่าจีน ด้วยวิธีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเสียตลอดแนวลำน้ำท่าจีน ตั้งแต่บริเวณวัดชีผ้าขาว จนถึงวัดใหญ่จอมปราสาท จากนั้นจึงขึ้นเรือมาดูการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพื่อบำบัดน้ำเสียชุมชน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนวัดหลังศาลประสิทธิ์ พร้อมกับชี้แจงแนวนโยบายการทำงานด้านการจัดการน้ำเสียภาคครัวเรือนในชุมชนต้นแบบสู่การขยายผลไปยังท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ให้ดำเนินงานตาม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ตรงที่วางระบบบำบัดน้ำเสียให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น พัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะ หรือ สนามกีฬา เป็นต้น
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า เทศบาลตำบลท่าจีนแห่งนี้ ถือเป็นต้นแบบของการจัดการน้ำเสียชุมชนร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านในชุมชน และองค์การจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการจัดการน้ำเสีย โดยจากผลการดำเนินงานของเทศบาลตำบลท่าจีนทำให้เราเห็นได้ว่า วันนี้ถ้าหากชุมชนร่วมมือกันแล้ว การทำระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กก่อนที่จะปล่อยน้ำลงสู่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทำได้และเห็นผลไปในทางที่ดีมาก ซึ่งเทศบาลแห่งนี้จะเป็นต้นแบบที่จะช่วยทำให้คูคลองในประเทศไทยเป็นคลองน้ำใสได้ เพราะฉะนั้นการจัดการน้ำเสียด้วยระบบของชุมชนนั้น ก็จะเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นต้นแบบในการที่จะทำให้ความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับองค์การจัดการน้ำเสียได้ขยายกว้างขึ้น ส่งผลทำให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งกลับไปดูแลในพื้นที่ของตนเองว่าควรจะทำอย่างไร ที่จะให้มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเกิดขึ้น และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือทำอย่างไรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการที่จะมาแก้ปัญหาน้ำเสียร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกับองค์การจัดการน้ำเสียด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยพยายามที่จะขับเคลื่อน พยายามที่จะผลักดันให้การจัดการน้ำเสียของประเทศเดินหน้าไปอย่างมีนัยยะสำคัญนั่นก็คือ เราจะต้องลดสิ่งที่เรียกว่าน้ำเสียจากครัวเรือนต่างๆ ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยจะต้องมีการบำบัดให้ได้มาตรฐานเสียก่อน ทั้งนี้ในส่วนของเทศบาลตำบลท่าจีนจึงนับเป็นโมเดล เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบของการร่วมมือกันระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นกับองค์การจัดการน้ำเสียและชุมชน
ด้านนายธีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวอีกว่า ตามที่องค์การจัดการน้ำเสียได้ดำเนินงานตามภารกิจ การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนสำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม โดยองค์การจัดการน้ำเสียได้มีข้อตกลงร่วมกับเทศบาลตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 โดยองค์การจัดการน้ำเสียได้ดำเนินการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเทศบาลตำบล ท่าจีน ให้มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีลักษณะเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ใต้ดิน พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อทำการบำบัดน้ำเสีย เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ สามารถใช้พื้นที่ด้านบนให้มีภูมิทัศน์ เป็นสวนดอกไม้ เพื่อรองรับกิจกรรมสันทนาการของประชาชนและเยาวชน รวมทั้งการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดที่ได้มาตรฐานกลับมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเทศบาลตำบลท่าจีนได้แล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการขยายผลสู่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ นั้น ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องดูถึงสภาพน้ำที่เสื่อมโทรมและความสามารถในการบริหารจัดการน้ำเสียเป็นหลักด้วย โดย ณ ตอนนี้ยังคงมีของเทศบาลนครอ้อมน้อยเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการมานานหลายปี แต่เนื่องด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมีความล่าช้าไปบ้าง แต่ขณะนี้ก็ได้มีการพิจารณาหาช่างผู้ชำนาญมาวางแบบแปลนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ ก็จะทำให้โครงการฯ เดินหน้าไปสู่การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ต่อไป
ด้านนายรังสรรค์ เจียระนัย นายกเทศมนตรีตำบลท่าจีน เปิดเผยว่า การดำเนินงานบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนเทศบาลตำบลท่าจีนนี้ได้วางไว้ทั้งหมด 3 แห่งด้วยกัน ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่อง โดยแต่เดิมชาวบ้านมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้มีการคัดค้านการก่อสร้างไปบ้าง แต่ทางเทศบาลก็ได้ลงพื้นที่มาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จนในที่สุดชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือทำให้การดำเนินการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจนบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อีกทั้งในอนาคตยังจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแลนด์มาร์คของตำบลท่าจีนอีกด้วย โดยร่วมกับทางวัดหลังศาลประสิทธิ์ พัฒนาปรับปรุงบริเวณลานกว้างให้เป็นสวนสาธารณะ เป็นแหล่งนิทรรศการให้ความรู้ด้านการจัดการน้ำเสีย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจมาถ่ายรูปคู่กับนกอินทรีย์ยักษ์ ชมวิวสวยๆ ริมแม่น้ำท่าจีน และสดชื่นไปกับพญานาคพ่นน้ำ ซึ่งก็เป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียจากระบบแห่งนี้นั่นเอง