จังหวัดศรีสะเกษจัดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้งและปล่อยขบวนรถปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งประจำปี 2563 (มีคลิป)
1 min readเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้งและปล่อยขบวนรถปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2563 โดยมี นายสำรวจ เกตุกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายนพ พงศ์พลาดิสัย ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ และนายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายอำเภอทั้ง 22 อำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ตอลดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และร่วมพิธีรับตรวจอย่างพร้อมเพรียง
นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมจิตอาสาต้านภัยแล้งในครั้งนี้ มีการตรวจความพร้อมในวันนี้ เป็นการปฏิบัติโดยพร้อมเพรียงกันของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง จำนวน ๒๒ จังหวัด ซึ่งจะประกอบด้วย ๒ ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ ขั้นตอนที่ ๑ การตรวจความพร้อมเป็นส่วนรวม ประกอบด้วย การตรวจสายการบังคับบัญชาการตรวจการติดต่อสื่อสาร การตรวจยานพาหนะของกำลังพลทุกภาคส่วน จำนวนทั้งสิ้น 500 คน หน่วยที่เข้ารับการตรวจความพร้อม จำนวน. 18 หน่วย ยานพาหนะ 80 คัน และขั้นตอนที่ ๒ การปล่อยขบวนยานพาหนะของหน่วยปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่สนับสนุนการปฏิบัติงานช่วยเหลือภัยแล้ง ในพื้นที่ตามแผนเผชิญเหตุของแต่ละอำเภอที่ได้วางแผนไว้แล้ว
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติในทุกขั้นตอนได้มีการน้อมนำแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเมื่อครั้งการช่วยเหลือเยาวชนที่พลัดหลงบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน แผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมทั้งทรงมีพระราชดำริในเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินในโครงการที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ดูแล หากจำเป็นต้องมีการขุดบ่อ สระน้ำ อ่างเก็บน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในระยะเร่งด่วน หรือเพื่อประโยชน์ในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้พื้นที่ได้อีกทั้งปัญหา ภัยแล้งเป็นปัญหาส่วนรวมของประเทศที่ต้องร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและเน้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนและจิตอาสาพระราชทานร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สามารถนำพาทุกภาคส่วนสนธิกำลังและยุทโธปกรณ์รวมถึงงบประมาณที่มีอยู่ในหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของตนเองได้ในระดับชุมชน และจะเป็นต้นแบบในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
ข่าว /ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ