ปทุมธานี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิญชวนร่วมประกาศเจตนารมย์ “ไม่กิน ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่หามาขาย ไม่เป็นโรคร้าย สัตว์ป่าไม่สูญพันธุ์” เนื่องในวันสัตว์ป่าพืชป่าโลก ประจำปี 2563 (มีคลิป)
1 min readวันที่ (3 มี.ค.63) เวลา 14.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ประจำปี พ.ศ.2563 (World Wildlife Day 2020) ณ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีโดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นายนิติชัย วิริยานนท์ นอภ.คลองหลวง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ย้ำจุดยืนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการรณรงค์ให้ประชาชนไม่กินเนื้อสัตว์ป่า รวมทั้งเรียกร้องให้ ทุกภาคส่วนทั้งประเทศไทยและนานาชาติ ร่วมมือกันต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย อันเป็นภัยคุกคามส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อโรคร้ายจากสัตว์สู่คนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ทำให้เกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ดังเช่น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน
โดยวันสัตว์ป่าพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day มีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้เสนอในที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ครั้งที่ 16 เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันลงนามรับรองอนุสัญญา CITES เป็น“วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” (World Wildlife Day) และต่อมาที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ในปีเดียวกัน ได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็น “วันสัตว์ป่าและ”พืชป่าโลก”ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nation World Wildlife Day) พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัฐสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญดังกล่าว โดยปีนี้ (2563) มีแนวคิดหลัก (Theme) คือ “Sustaining all life on Earth – ร่วมสร้างความยั่งยืน เพื่อทุกชีวิตบนผืนโลก” ที่มุ่งให้เห็นว่า สัตว์ป่าและพืชป่าตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน ล้วนเป็นองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนถือเป็นแนวทางที่สำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในการจัดงานในครั้งนี้ ทส.เน้นย้ำการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนว่าการใช้ประโยชน์ที่ขาดความสมดุลจะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและเป็นปัญหาที่ทั้งโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยใช้กรณีของการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อันเกิดจากการบริโภคสัตว์ป่าที่ไม่เหมาะสมมาเป็นบทเรียนและกำหนดมาตรการในเชิงป้องกัน
ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า“อพวช. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจตลอดจนความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งส่งเสริมควมรู้ด้านธรรมชาติวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ นิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม ผ่าน “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ ที่สมบูรณ์อีกแห่งหนึ่งในอาเซียน ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ทาง อพวช. รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรม เนื่องในวันสำคัญอย่าง “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” (World Wildlife Day) ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์หลักของการก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” ที่จะส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้มนุษย์มองเห็นความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ และการกระทำของมนุษย์ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต หวังจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างจิตสํานึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า ต่อไปในอนาคต”
สำหรับกิจกรรมวันงานประกอบด้วย การเสวนาหัวข้อ “From Wild Meat to Virus : A Wake-up Call on Illegal Wildlife Trade – จากเนื้อสัตว์ป่ามาสู่เชื้อไวรัส : ถึงเวลาต้องร่วมมือต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย”โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ TRAFFIC ซึ่งเป็นองค์กรที่เฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ร่วมเสวนาการเปิดตัวโครงการรณรงค์ “No Ivory, No Tiger Amulets – ไม่พึ่งเขี้ยวงา”
ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) กิจกรรมเยาวชนสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน และเยาวชน และนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมงานด้วย ในการจัดงานครั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้เข้มงวดต่อการเฝ้าระวังโรค Covid-19 ตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วมงานตามมาตรฐานการป้องกันโรค Covid-19 อย่างเคร่งครัด
ภาพ/ข่าว สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม รายงาน