“พระอาจารย์โชติ” ชวนร่วมบุญสืบสานประเพณีโบราณ ชักพระขึ้นอุโบสถวัดศรีสมบูรณ์รัตนาราม (มีคลิป)
1 min readเมื่อเร็วๆนี้ พระครูวินัยธรศักดิ์มนตรี ปภัสโร เจ้าอาวาสวัดศรีสมบูรณ์รัตนาราม บ้านหนองแคน ต.สำโรง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นำศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ประกอบพิธีชักพระองค์พระประธานหลวงพ่อพระพุทธศรีสมบูรณ์รัตนะมงคล แห่รอบเมือง ในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดศรีสมบูรณ์รัตนาราม เพื่อให้สาธุชนได้สักการะ กราบไหว้ขอพร เป็นที่ยึดเหนี่ยวใจใจของชาวพุทธ
พระครูวินัยธรศักดิ์มนตรี ปภัสโร กล่าวว่า วัดศรีสมบูรณ์รัตนาราม ได้กำหนดจัดงานบุญประจำปี 2563 ในระหว่างวันที่ 8-9 มี.ค. นี้ ซึ่งจะมีพิธีทำบุญสมโภชองค์พระประธานหลวงพ่อพระพุทธศรีสมบูรณ์รัตนะมงคล พิธีชักพระขึ้นอุโบสถหลังใหม่ และพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบทุนทรัพย์สร้างซุ้มประตูวัดศรีสมบูรณ์รัตนาราม พิธีไหว้พระสวดมนต์ พิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พิธีบวชชีพราหมณ์ปฏิบัติธรรม พิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตาหลวง แก้ปีชง เสริมบารมี ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ได้นำศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีชักพระ ขบวนแห่องค์พระพุทธรูป รอบเมือง
สำหรับ ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป ด้วยประเพณีชักพระดังกล่าว
ซึ่งพิธีชักพระทางบก ของทางภาคใต้ โดยที่ จ.นครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน “ปัด” คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1-2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อน มาทำเป็นพญานาค 2 ตน เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า) บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืน รอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงาน พอเช้าวันประกอบพิธีก็จะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้น ที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตน เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร
ส่วนพิธีชักพระทางน้ำ วัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการนำเรือมา 2-3 ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือ บางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงาน ท่าน้ำที่เป็นบริเวณงาน จะมีเรือพระหลาย ๆ วัด มาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงาน ทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน
ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมโบราณ จึงได้จัดทำพิธีชักพระแบบโบราณขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นการรวมธรรมเนียมทางใต้บวกกับทางภาคอีสาน พร้อมบรรจุหัวใจองค์พระประธาน ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จสังฆราช องค์ก่อน และเปิดโอกาสให้สาธุชนได้เขียนชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด บรรจุไว้ในฐานพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เพื่อรักษาและสถิตย์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สักการะบูชา สืบพระพุทธศาสนาต่อไป จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั่วไปร่วมงานบุญประเพณีดังกล่าวได้ในวันและเวลาดังกล่าว หรือประสงค์เป็นเจ้าภาพโรงทาน ติดต่อร่วมบุญได้ที่ โทร 09-6989-5154 .
ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ