ตำบลเนินหอม นวัตกรรมการผลิตหน่อไม้ดองคุณภาพสูง จังหวัดปราจีนบุรี
1 min readวันที่ 10 มีนาคม 2563 ณ หมู่ที่ 3 ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองปราจีนบุรี นำโดย นายหอม เกษรศิริ ร่วมกับสวนคุณสมจิต บุญชด สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านนาปรือ นายวีระพรรณ พรมบุตร สารวัตรกำนันตำบลเนินหอม ดำเนินโครงการพัฒนาความรู้และศักยภาพของเกษตรกรเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไผ่ โดยนำองค์ความรู้จากทีมคณะผู้วิจัย นำโดย ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำองค์ความรู้เรื่องการดองหน่อไม้คุณภาพสูงด้วยน้ำมะพร้าว เป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัยภายใต้โครงการ “การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี” ที่ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Network Value Chain) พัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์และการบริการจากไผ่ให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการใช้นวัตกรรมและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ที่เป็นทรัพยากรพื้นถิ่น
ข้อมูลจากนักวิจัย ดร.อารณี โชติโก ผศ.ดร.สมพงษ์ แสนเสนยา ผศ.ดร.ปาลิดา ตั้งอนุรักษ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ปพนพัชร์ ภัทรฐิติวัสส์ คณะคหกรรมศาสตร์ พบว่ากระบวนการทำหน่อไม้ดอง เริ่มต้นจากการคัดเลือกสายพันธุ์โดยเลือกไผ่ตงศรีปราจีนซึ่งผลวิจัยพบว่าเป็นไผ่ที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ปอกล้างทำความสะอาด แล้วหั่นหรือสับเป็นชิ้นตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปแช่น้ำและหาช่วงเวลาการแช่น้ำและหาปริมาณเกลือที่เหมาะสม ก่อนเข้าสู่กระบวนการดอง สิ่งหนึ่งที่ศึกษาและได้ผลดีคือ หลังแช่เกลือด้วยช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ให้บีบน้ำออกให้หมด จากนั้นเติมน้ำมะพร้าวแก่ที่ต้มสุกลงไป และปิดฝาหมัก ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาการดองลงจากเดิมต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แต่จากการวิจัยด้วยกระบวนการดังกล่าวสามารถลดระยะเวลาการดองเหลือเพียง 3-4 วันเท่านั้น และไม่พบไซยาไนด์หลงเหลือในผลิตภัณฑ์จากหน่อไม้
นอกจากนี้ กรณีไม่มีน้ำมะพร้าวเราสามารถใช้กล้าเชื้อที่คิดค้นโดยอาจารย์ปาลิดา จะช่วยลดระยะเวลาการดองได้เทียบเท่ากับการใช้น้ำมะพร้าวในการดอง คือใช้เวลาในการดอง 3 วัน จากการวิเคราะห์คุณภาพทางประสาทสัมผัส พบว่า ความชอบด้าน ความเปรี้ยว กลิ่น เนื้อสัมผัสและความชอบโดยรวม ไม่แตกต่างกัน
ข่าว อลงกรณ์ คุณกิตติมานนท์ ปราจีนบุรี