คณะสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่เกาะช้าง รับฟังปัญหาถนนรอบเกาะ,อ่างเก็บน้ำ,ขยะและน้ำเสีย
1 min readวันที่ 10 มี.ค.63 ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเกาะช้าง จ.ตราด พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้เป็นประธาน ในการนำคณะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 15 คน ลงพื้นที่พบประชาชนและผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆของ อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยได้มีการแนะนำเกี่ยวกับหน้าที่และ อำนาจของวุฒิสภา และภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้ง รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนภาคประชาชน โดยมี นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานฯ-นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการ จ.ตราด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ร่วมให้ข้อมูล ประเด็นสำคัญๆในการลงพื้นที่รับฟังข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในพื้นที่ อ.เกาะช้างของคณะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างถนนเชื่อมรอบเกาะช้าง 2.โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว 3.การจัดการขยะและน้ำเสีย
นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายกอบต.เกาะช้างใต้ ได้ให้ข้อมูลว่า โครงการถนนรอบเกาะช้าง ระหว่างบ้านบางเบ้า-บ้านสลักเพชร ต.เกาะช้างใต้ ระยะทางราว 10 กม.เริ่มมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ยังไม่คืบหน้า โดยยังไม่ผ่านขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งในช่วงต้นปี 2561 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำครม.สัญจรมาในพื้นที่เกาะช้าง ก็ได้รับทราบปัญหาความต้องการของพื้นที่ไปแล้ว เนื่องจากถนนที่ใช้สัญจรบนเกาะช้าง จะมีภูเขากั้นตรงกลาง จะมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีระยะทางกว่า 50 กม. ถ้ามีการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อกัน ก็จะรอบเกาะ จะเกิดประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ ด้านเจ้าหน้าที่วิศวกรของกรมทางหลวงชนบทได้แจ้งว่าจะต้องมีการศีกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่อีกครั้ง ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนของระบบราชการ จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ก็ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี
ด้าน นายสัญญา เกิดมณี นายกเทศมนตรี ต.เกาะช้าง ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาทางเทศบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ของสถานประกอบการต่างๆเป็นอันดับต้นๆ เรื่องขยะยังมองเห็น เพราะถ้าหากน้ำเสียซึมลงใต้พื้นทราย ไหลออกสู่ทะเล ก็จะทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญที่ดึงความสนใจจากนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกมุมโลกให้มาท่องเที่ยวเกาะช้าง ที่ผ่านมาได้มีโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมในย่านหาดทรายขาวหมู่ 4 ต.เกาะช้าง และได้มีการทำหนังสือขอใช้พื้นที่ว่างเปล่าจากกองทัพเรือราว 1.2 ไร่เศษ เพื่อใช้ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาตจากกองทัพเรือ ในส่วนของโรงคัดแยกขยะฯที่เครื่องจักรและตัวอาคารไม่ค่อยสมบูรณ์ได้มีการของบฯจำนวน 61ล้านบาท มาใช้ในการปรับปรุงอาคารและซื้อเครื่องจักรใหม่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จมั่นใจว่า จะสามารถบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายสัญญา กล่าว
ทางด้าน นายวันรุ่ง ขนรกุล กำนัน ต.เกาะช้าง ได้กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว ได้มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2548 และทางกรมชลประทานได้มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยในปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่คืบหน้า ที่ผ่านมาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ประชาชนและสถานประกอบการโรงแรม-รีสอร์ต จะได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำด้านอุปโภค-บริโภค จะต้องมีการซื้อน้ำใช้ ช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกปริมาณมาก แต่ไม่มีแหล่งกักเก็บ น้ำฝนก็ไหลลงทะเลหมด ชาวบ้านเกาะช้าง และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ต่างก็มีความต้องการไม่มีใครคัดค้าน พร้อมกันนี้ นายวันรุ่ง ยังได้มีการนำแบบของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพร้าว ที่ทางวิศวกรของกรมชลประทานได้ออกแบบไว้ มาให้ดูด้วย ทางด้านเจ้าหน้าที่วิศวกรของกรมชลประทานได้ชี้แจงว่า จะต้องมีการแก้ไขแบบโครงการบางส่วนและในราวปี 2565 ก็จะเรียบร้อย และใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 2 ปี
ภาพ/ข่าว วรโชติ เกาะช้าง-วิเชียร ม่วงสี ทีมข่าวภูมิภาค รายงาน