อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

สอจร.อีสานล่าง ยกโมเดล “ขุนหาญ” ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (มีคลิป)

1 min read

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ นางเปรมปรีดิ์ ชวนะนรเศรษฐ์ หัวหน้าแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สอจร.อีสานล่าง) มอบหมายให้นายนรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร รองหัวหน้าภาคฯ ร่วมกับพี่เลี้ยง สอจร.จังหวัดศรีสะเกษ และพี่เลี้ยง สอจร.อำเภอขุนหาญ ลงพื้นที่ติดตามโครงการชาวขุนหาญร่วมใจลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วยมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% โดยมี นายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญ พร้อมด้วย แพทย์หญิงรัชฎาพร รุญเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนหาญ นายวิสิฐศักดิ์ พิริยานนท์ สาธารณสุขอำเภอขุนหาญ หัวหน้าส่วนราชการ ภาคีที่เกี่ยวข้อง และคณะทำงานโครงการ ให้การต้อนรับ

นายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญ กล่าวว่า การดำเนินโครงการชาวขุนหาญร่วมใจลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วยมาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ซึ่งขับเคลื่อนการทำงานโดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขุนหาญ มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในอำเภอขุนหาญ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 108,090 คน ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้แก่ มีหน่วยงานและองค์กรที่เข้าร่วม MOU มาตรการสวมหมวกนิรภัย 100% จำนวน 80 หน่วยงาน พบอัตราการสวมหมวกนิรภัย โดยเฉลี่ยเป็นร้อยละ 82 มีการค้นหาและแก้ไขจุดเสี่ยง เกิดการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จำนวน 13 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการขยายผลรูปแบบการดำเนินงานลงสู่ชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ (พชอ.) ระดับตำบล (พชต.) และระดับหมู่บ้าน (พชม.) ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้เป็นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับให้เป็นเจ้าของปัญหาและดำเนินการแก้ไขปัญหาในชุมชนได้เอง หากมีจุดเสี่ยงที่อยู่เหนือการแก้ไขของชุมชนจะส่งต่อมายังระดับตำบลและอำเภอ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ พบว่าอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บทางถนนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ด้าน นายนรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร รองหัวหน้าภาคฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการดำเนินงานของอำเภอขุนหาญนี้ มีความน่าสนใจและเป็นโครงการที่มีนวัตกรรมด้านกระบวนการ กล่าวคือ การขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุทางถนน โดยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกระดับ ทำให้ประชาชนและชุมชนมีความเป็นเจ้าของปัญหาอย่างแท้จริง อนึ่ง หากมีข้อขัดข้องในการดำเนินการ คณะกรรมการบริหารในระดับอำเภอสามารถสื่อสารการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ดังที่นายอำเภอขุนหาญได้นำเสนอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างและขอยกรูปแบบหรือโมเดลขุนหาญ ให้เป็นโมเดลที่อำเภออื่นๆ สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุทางถนนโดยใช้กลไก พชอ./พชต./พชม. ได้

“อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานจะสำเร็จได้โดยผู้บริหารหรือผู้นำจะต้องมีความเข้าใจในเนื้องานอย่างถ่องแท้และเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน อีกทั้งจะต้องอำนวยความสะดวกในการจัดการทรัพยากรให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่” ดร.ชญานิน กฤติยะโชติ พี่เลี้ยง สอจร.จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวในที่สุด

ข่าว/ภาพ บุญทัน ธุศรีวรรณ

Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.