อาทิตย์. พ.ย. 24th, 2024

ข่าวชัด Khaochad.co.th

ข่าวสารฉับไว ชัดตรงประเด็น สื่อความมั่นคงของชาติ

เปิด 16 ข้อกำหนด “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” โควิด-19 ฝ่าฝืนเจอโทษ

1 min read

สืบเนื่องจากจากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขออำนาจคณะรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนด (พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยการใช้ พรก. ดังกล่าว จะเริ่มวันที่ 26 มีนาคมนี้ โดยยกระดับศูนย์โควิด เรียกว่า ศอฉ.โควิด โดยมีนายก เป็นประธาน  โดยพรก.ดังกล่าว มีอายุ บังคับใช้ 1 เดือน

วันนี้ (25 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดและข้อกำหนด เพื่อป้องกันและยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีเนื้อหา 16 ข้อกำหนด ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 1 มีดังต่อไปนี้

  1. การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง

ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดต่อเชื้อโรค โควิด-19

  1. การปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค

พิจารณาสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว สั่งปิดสถานที่ดังต่อไปนี้

  • สนามมวย, สนามกีฬา, สนามแข่งขัน, สนามเด็กเล่น, สนามม้า ในทุกจังหวัด
  • ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการอาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐม, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • สถานที่อื่นนอกจากนี้ เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุดสาธารณะ ศาสนสถาน สถานีขนส่งหรือโดยสาร ตลาด ห้างสรรพสินค้า
  1. การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร

ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือ ทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปิดช่องทางเข้าออก ด่าน จุดผ่านแดน หรือ จุดผ่อนปรนตามกฎหมาย

  1. การห้ามกักตุนสินค้า

ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้าซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

  1. การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ
  2. การเสนอข่าว

ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าว อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

  1. มาตรการเตรียมรับสถานการณ์
  • ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ
  • ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดและประชาสัมพันธ์เผยแพร่มาตรการเพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการบังคับใช้มาตรการของรัฐต่อประชาชน
  • ให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน จัดหายา เวชภัณฑ์ เครื่องมือในการตรวจโรค เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์อื่นๆ รวมทั้งเตรียมหาบุคลากรทางการแพทย์จากแหล่งต่างๆ และเตรียมสถานที่กักกัน สถานที่คุมไว้สังเกต หรือเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น
  1. มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท

ให้กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่ายดังต่อไปนี้ อยู่ในเคหสถานหรือบริเวณสถานที่พำนักของตน เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ

  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง, โรคในระบบทางเดินหายใจ, โรคภูมิแพ้
  • กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
  1. มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร

ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการตรวจลงตราหรือออกวีซ่าหรืออนุญาตให้ชาวต่างประเทศ ซึ่งมิได้มีกิจการงานปกติหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรยังคงอยู่ในราชอาณาจักร

  1. มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อย

ในกรุงเทพฯ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเวรยามหรือตั้งจุดตรวจตามถนน เส้นทางคมนาคม สถานีขนส่งหรือโดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การก่ออาชญากรรม

  1. มาตรการป้องกันโรค

ให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อใช้ปฏิบัติเป็นการทั่วไป หรือใช้ในกรณีผ่อนผัน หรือ ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนด

  1. นโยบายการยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ

รัฐบาลมีนโยบายให้โรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านอาหารในส่วนซึ่งมิใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการและแผงจำหน่ายอาหารซึ่งผู้บริโภคซื้อไปบริโภคนอกสถานที่ ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ เพื่อความสะดวกและความเป็นอยู่ตามปกติของประชาชน

  1. คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด

ในช่วงเวลานี้ประชาชนพึงงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในระยะนี้ โดยไม่จำเป็นและควรพักหรือทำงานอยู่ ณ ที่พำนักของตน

  1. คำแนะนำในการจัดกิจกรรมอื่นๆ

การจัดกิจกรรมหรือพิธีการทางสังคมตามประเพณีนิยม เช่น พิธีมงคลสมรส, พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ยังคงจัดได้ตามความเหมาะสม

  1. โทษความผิด ผู้ฝ่าผืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 – 6 แห่งข้อกำหนดนี้

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 1, 2, 3, 4, 5, 6 ต้องรับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

  1. การใช้บังคับข้อกำหนดนี้

ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป.


ขอบคุณภาพจาก วาสนา นาน่วม
Loading…

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.